เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมารยาททางสังคม

Wednesday, November 28, 2012

มารยาท หรือ มรรยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาละเทศะ ส่วนคำว่า มารยาทในสังคม จะหมายถึง กรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับมารยาททางสังคมมาเสนอ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ และประโยชน์ในทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

- การกล่าวคำว่า “ ขอบคุณ ” เมื่อผู้อื่นให้สิ่งของ /บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่างๆให้ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขาหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเปิดประตูให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้เราในรถประจำทาง คนช่วยกดลิฟท์รอเรา หรือช่วยหยิบของที่เราหยิบไม่ถึงให้ เป็นต้น โดยปกติจะใช้คำว่า “ ขอบคุณ ” กับผู้ที่อาวุโสกว่า และใช้คำว่า “ ขอบใจ ” กับผู้อายุน้อยกว่าเรา แต่ปัจจุบันมักใช้รวมๆกันไป

- เอ่ยคำว่า “ ขอโทษ ” เมื่อต้องรบกวน /ขัดจังหวะผู้อื่น เช่น เขากำลังพูดกันอยู่ และต้องการถามธุระด่วน ก็กล่าวขอโทษผู้ร่วมสนทนาอีกคน แต่ควรเป็นเรื่องด่วนจริงๆ หรือกล่าวเมื่อทำผิดพลาด /ทำผิด หรือทำสิ่งใดไม่ถูก ไม่เหมาะสมโดยไม่ตั้งใจ เช่น เดินไปชนผู้อื่น หยิบของข้ามตัวหรือศีรษะผู้อื่น เป็นต้น

สำหรับคนไทย เมื่อเอ่ยคำว่า “ ขอบคุณ ” หรือ “ ขอโทษ ” ต่อผู้ที่อาวุโสกว่า เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ มักจะยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย เช่น กล่าวขอบคุณพร้อมยกมือไหว้พ่อแม่ที่ท่านซื้อของให้ เป็นต้น

- ในการรับประทานอาหารไม่ว่าจะในหรือนอกบ้าน ไม่ ควรล้วงแคะ แกะเกาในโต๊ะอาหาร หากจะใช้ไม้จิ้มฟัน ควรใช้มือป้องไว้ ควรใช้ช้อนกลางตักอาหารจากจานรวม และแบ่งอาหารใส่จานของตนพอประมาณ ไม่มากจนรับประทานไม่หมด ถ้าไอหรือจาม ควรใช้มือหรือผ้าป้องปาก หากต้องคายอาหารก็ควรใช้มือป้องปาก และใช้กระดาษเช็ดปากรองรับ แล้วพับให้มิดชิด และไม่ควรเคี้ยวอาหารเสียงดัง และไม่ควรสูบบุหรี่จนรบกวนผู้อื่น

- การรับประทานอาหารแบบสากล เมื่อเข้าที่นั่งแล้ว ให้คลี่ผ้าเช็ดมือวางบนตัก ไม่ควรเริ่มรับประทานอาหารก่อนแขกผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพ ใช้เครื่องใช้ในการรับประทานเฉพาะที่จัดไว้ให้เฉพาะคน ใช้ช้อนกลางตักอาหารจานกลาง ห้ามใชัช้อนของตนตักจากจานกลาง ถ้าต้องการสิ่งที่ไกลตัว อย่าโน้มหรือเอื้อมมือไปหยิบข้ามเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารของผู้อื่น หรืออย่าข้ามหน้าคนอื่นไป หากจำเป็นควรขอให้บริกรหยิบให้ การหยิบเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้หยิบจากด้านนอกเข้ามาก่อนเสมอ โดยจับส้อมมือซ้าย และมีดมือขวา ถ้าไม่มีมีด ใช้ส้อมอย่างเดียวให้ถือส้อมด้วยมือขวา จานขนมปังจะอยู่ทางซ้ายให้ใช้มือซ้ายช่วยบิรับประทานทีละคำ อย่าบิไว้หลายชิ้นและอย่าใช้มีดหั่นขนมปัง อย่าทาเนยหรือแยมบน

ขนมปังทั้งแผ่นหรือทั้งก้อนแล้วกัดกิน การกินซุปให้หงายช้อนตักออกจากตัวและรับประทานจากข้างช้อน อย่ากินปลายช้อน อย่าซดเสียงดัง ถ้าจะตะแคงถ้วยให้ตะแคงหงายออกจากตัว อาหารเนื้อสัตว์ ให้ตัดแต่พอคำและกินโดยใช้ส้อมช่วย น้ำดื่มให้วางทางขวามือเสมอ ก่อนลุกจากเก้าอี้ให้ทบผ้าเช็ดปากวางไว้บนโต๊ะ

- ในการไปชมมหรสพ เช่น คอนเสิร์ต หนังหรือละคร ควรเข้าแถวซื้อตั๋วตามลำดับก่อน-หลัง ไม่แทรกหรือตัดแถวผู้อื่น หรือฝากเงินคนที่อยู่ข้างหน้าโดยที่ตัวเองไม่ได้ยืนเข้าแถว เว้นแต่ผู้นั้นสนิทสนมกันและมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่ยืนเข้าแถวไม่ได้ ไม่ควรพาเด็กเล็กเกินไปชมการแสดง เพราะจะส่งรบกวนและทำความรำคาญให้ผู้อื่น ไม่ควรลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น อย่าส่งเสียงสนทนากันดังๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์การแสดง หรือแสดงอาการสนุกสนาน เป่าปาก ตบมือจนเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ หญิงชายไม่ควรเกี้ยวพาราสี หรือกอดจับต้องกันเมื่ออยู่ในโรงมหรสพ เมื่อไอ จาม หรือถ่มน้ำลาย ต้องทำด้วยกิริยาปกปิด มิให้เกิดเสียงดังรบกวนคนอื่น

- ในการเดินกับผู้ใหญ่ ถ้าเดินนำ ให้เดินห่างพอสมควร อยู่ด้านใดก็แล้วแต่สถานที่อำนวย แต่โดยปกติจะเดินอยู่ทางด้านซ้ายของผู้ใหญ่ หากเดินตาม ให้เดินเยื้องไปทางซ้ายของผู้ใหญ่เช่นกัน และเดินด้วยความสำรวมไม่ว่าเดินนำหรือตาม

- การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน มีหลักทั่วๆไปว่า แนะนำผู้อาวุโสน้อยต่อผู้อาวุโสมาก พาชายไปแนะนำให้รู้จักผู้หญิง ยกเว้นชายนั้นจะเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูง พาหญิงโสดไปรู้จักหญิงที่แต่งงานแล้ว แนะนำผู้มาทีหลังต่อผู้มาก่อน ถ้าเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม

- การสวดมนต์ ฟังพระสวด ฟังเทศน์ฟังธรรม หรือขณะพูดกับพระสงฆ์ ให้ แสดงความเคารพด้วย การประนมมือ ที่เรียกว่า อัญชลี คือประนมมือให้นิ้วมือแนบชิดกัน ฝ่ามือราบปลายนิ้วตั้งขึ้น แขนแนบตัวระดับอก ไม่กางศอก ทั้งหญิงชายปฏิบัติเหมือนกัน

- การไหว้ (วันทา) จะมี ๓ ระดับ คือ ถ้าไหว้พระ เช่น พระรัตนตรัย ปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานให้แสดงความเคารพโดยประนมมือให้นิ้วหัวแม่มือจรด ระหว่างคิ้ว ถ้าไหว้ผู้มีพระคุณหรือผู้อาวุโส ที่เคารพนับถือ เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ประนมมือให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก ถ้าไหว้บุคคลทั่วไป ให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง ถ้า กราบ(อภิวาท) พระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ ต้องกราบ ๓ ครั้งแบมือ หากกราบคนไม่ว่าจะเป็นคนเป็น หรือคนตาย กราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ

- การจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ให้ประธานในพิธี (จะยืนหรือคุกเข่าแล้วแต่สถานที่) จุดเทียนเล่มซ้ายมือ (ของประธาน)ก่อน แล้วค่อยจุดเล่มขวา จากนั้นจึงจุดธูป แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หากมีพระบรมฉายาลักษณ์และธงชาติด้วย เมื่อกราบแล้ว ถอยออกมาแล้วทำความเคารพด้วยการคำนับเพียงครั้งเดียว ส่วนคนอื่นๆในที่นั้น เมื่อประธานลุกไปประกอบพิธี ให้ยืนขึ้น และเมื่อจุดเทียนเล่มแรก ให้ทุกคนประนมมือจนเสร็จพิธี เมื่อประธานกลับลงมานั่ง จึงนั่งตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนของมารยาททางสังคมอันเป็นหลักประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งหวังว่าจะเป็นแนวทางให้ท่านได้นำไปใช้ประโยชน์ในโอกาสต่างๆต่อไปตาม สมควร




อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ความสำคัญของการสื่อสารด้วยการพูด

Thursday, September 27, 2012

ความสำคัญของการสื่อสารด้วยการพูด


     การพูดมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอันมากไม่ว่าจะอยู่ที่ใดประกอบกับ กิจการงานใดหรือคบหา สมาคมกับผู้ใด ผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงาน การคบหาสมาคมกับผู้อื่นตลอดจนการทำประโยชน์แก่สังคม ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการพูดทั้งสิ้น
การพูดมีความสำคัญต่อตนเอง เพราะถ้าผู้พูดมีศิลปะในการพูดก็จะเป็นคุณแก่ตนเอง ส่วนในด้านสังคมนั้น เนื่องจากเราต้องคบหาสมาคมและพึ่งพาอาศัยกัน การที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นจำเป็นต้องเป็นคนที่ “พูดดี” คือพูดไพเราะ น่าฟัง และพูดถูกต้องด้วย
มารยาทในการพูด
     การพูดของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ รู้จักกาลเวลา และที่สำคัญต้องคำนึงถึงมารยาทที่ดีในการพูดด้วย มารยาทในการพูดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
     1. มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล
     2. มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล มีดังนี้
     1. เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีความสนใจและพอใจร่วมกัน
     2. ไม่พูดเรื่องของตนเองมากจนเกินไป ควรฟังในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่สอดแทรกเมื่อเขาพูดยังไม่จบ
     3. พูดตรงประเด็น อาจออกนอกเรื่องบ้างพอผ่อนคลายอารมณ์
     4. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่บังคับให้ผู้อื่นเชื่อหรือคิดเหมือนตน
ฯลฯ

มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
     การพูดในที่สาธารณะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เพราะการพูดในที่สาธารณะนั้น ย่อมมีผู้ฟังซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ กัน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และพื้นฐานความรู้ ความสนใจและรสนิยมต่างกันไป มารยาทในการพูดระหว่างบุคคลอาจนำมาใช้ได้และควรปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
     1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่โอกาสและสถานที่
     2. มาถึงสถานที่พูดให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อย
     3. ก่อนพูดควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังตามธรรมเนียมนิยม
     4. ไม่แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรต่อหน้าที่ประชุม
     5. ใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่ผู้ฟังเสมอ
     6. ไม่พูดพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นในที่ประชุม
     7. ไม่พูดหยาบโลนหรือตลกคะนอง
     8. พูดให้ดังพอได้ยินทั่วกันและไม่พูดเกินเวลาที่กำหนด
     การสื่อสารด้วยการพูดไม่ว่าจะเป็นการพูดกับคนเพียงคนเดียวหรือพูดกับคนจำนวน มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดทุกคนต้องมีมารยาท ถ้าขาดหรือละเลยต่อมารยาทในการพูด แล้วอาจทำให้การพูดประสบความล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จได้


ข้อควรคำนึงในการสื่อสารด้วยการพูด
     การพูดจะสัมฤทธิผลหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ผู้พูดได้วิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญในการพูดให้ถ่องแท้หรือ ไม่ มีการเตรียมพร้อมเพียงใดก่อนที่จะพูด ฉะนั้นการพูดจึงมีข้อควรคำนึงดังนี้
การพูดให้เหมาะสมกับบุคคล
     ต้องวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้ คือ วัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ความสนใจพิเศษเพื่อเตรียมเรื่องที่จะพูดได้อย่างเหมาะสม
การพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ
     ควรพิจารณาว่าจะพูดในโอกาสใด การพูดนั้นเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน
การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจตรงตามความประสงค์
     ควรใช้ภาษาบ่งบอกความต้องการหรือความมุ่งหมายให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการตีความหลายแง่หลายมุม
การพูดสรุปใจความสำคัญจากเรื่องที่ฟังหรืออ่าน
     เป็นการพัฒนาการใช้ภาษาให้สัมพันธ์กันทุกด้าน และอาศัยความสามารถในการสรุปความจากเรื่องที่ฟังหรืออ่านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจเจตนาของผู้ส่งสารได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
การพูดแสดงความคิดเห็น
     เป็นการใช้ทักษะ การฟัง การอ่าน การพูด และการคิดให้สัมพันธ์กัน ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพราะการพูดแสดงความคิดเห็นผู้พูดต้องใช้ทั้งความรู้ ความคิด เหตุผลหรือหลักการต่าง ๆ หลายอย่างประกอบกัน ความคิดเห็นจึงจะมีคุณค่าน่าเชื่อถือ



ขอบคุณบทความและภาพจาก :
http://61.19.145.8/student/web42106/501/501-213337/thai3.htm
http://www.kroobannok.com

 

มารยาทในการเดิน

มารยาทในการเดิน

มารยาทในการเดิน

      
วิธีเดินเข่า

๑. นั่งคุกเข่าตัวตรง มือทั้งสองข้างปล่อยตามสบายอยู่ข้าง ๆ ลำตัว
       ๒. ยกเข่าขวา-ซ้ายก้าวไปข้างหน้าสลับกันไปมา ปลายเท้าตั้งช่วงก้าวของเข่ามีระยะพองาม ไม่กระชั้นเกินไป มือไม่แกว่ง หากผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มเล็กน้อย ขณะเดินเข่าระมัดระวังอย่าให้ปลายขาทั้งสองแกว่งไปมา ขณะก้าวเข่าอย่าให้ปลายเท้าลากพื้นจนมีเสียงดัง
       ๓. เมื่อจะลุกจากการเดินเข่า ให้ชันเข่าข้างหนึ่งข้างใดมาข้างหน้า อีกข้างหนึ่งกดลงไปกับพื้นแล้วยกตัวขึ้นช้า ๆ
การเดินตามลำพัง

       ให้เดินอย่างสุภาพหลังตรงช่วงก้าวไม่ยาว
หรือสั้นจนเกินไป แกว่งแขนแต่พองาม สำหรับ
ผู้หญิงขณะเดินให้ระมัดระวังการแกว่งแขนและ
สะโพกให้อยู่ในอิริยาบถที่เป็นไปโดยธรรมชาติ
     การเดินกับผู้ใหญ่

    ให้เดินไปทางซ้ายค่อนไปทางหลังเล็กน้อย
    เว้นแต่ต้องเดินในที่จำกัด จึงเดินตามหลังเป็นแถวท่าเดินต้องนอบน้อมช่วงก้าวพองาม อย่าเดินส่ายตัวหรือโคลงศรีษะ          
      ในกรณีที่ต้องเดินตามหลังระยะใกล้ ๆ
   ต้องคอยสังเกตว่า ผู้ใหญ่ที่เดินนำอยู่นั้นจะหยุด
   ณ ที่แห่งใด จะได้ชลอฝีเท้าลง ป้องกันมิให้เดิน
   ชนท่าน
การเดินผ่านผู้ใหญ่

การคลานลงมือ
๑. อาวุโสมากและคุ้นเคยกัน ขณะนั่งพื้นหรือเก้าอี้

   
๑.๑ ให้เดินเข่ามาใกล้พอสมควร
   ๑.๒ นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า กราบตั้งมือ ๑ ครั้ง
   ๑.๓ เมื่อจะผ่านให้คลานลงมือ ปลายเท้าตั้งกับพื้น
   ๑.๔ ถ้าผู้ใหญ่ทักทายให้นั่งพับเพียบ เก็บปลายเท้า   มือประสานบนตัก เมื่อจบการสนทนาให้กราบ ๑ ครั้ง
   แล้วเดินเข่าผ่านไป
   ๑.๕ หากอาวุโสมากแต่ไม่คุ้นเคยกัน ให้ค้อมตัวลง แล้วเดินเข่าผ่านไป ไม่ต้องคลานมือ และไม่ต้องกราบ
   ๒. อาวุโสมาก และคุ้นเคย ขณะยืนอยู่

         ๒.๑ ให้เดินเข้าไปใกล้พอสมควร สำหรับชายให้ค้อมตัวลงไหว้แบบไหว้บิดามารดา ครู อาจารย์หรือผู้มีอาวุโสมาก   สำหรับผู้หญิงให้ย่อตัวลงไหว้
         ๒.๒ ถ้าผู้ใหญ่ทักทายให้มือประสานกัน และเมื่อจบการสนทนาให้ไหว้อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินค้อมตัวเล็กน้อยผ่านไป
         ๒.๓ หากอาวุโสมากแต่ไม่คุ้นเคย ขณะยืนให้ค้อมตัวลงขณะเดิน ไม่ต้องไหว้

   ๓. อาวุโสไม่มากนักแต่คุ้นเคยกัน ขณะนั่งเก้าอี้หรือยืน

        ๓.๑ ให้เดินเข้าไปใกล้พอสมควร สำหรับชายให้ค้อมตัวลงไหว้ แบบไหว้ผู้ที่เคารพนับถือทั่วไป สำหรับผู้หญิงให้ย่อตัวลงไหว้ เมื่อจะผ่านให้เดินค้อมตัวผ่าน ไม่แกว่งแขนมืออยู่ข้างลำตัว หากท่านทักทายให้ยืนค้อมตัวรับฟัง มือประสานกัน เมื่อจบการสนทนาแล้วไหว้อีกครั้ง แล้วค้อมตัวเดินผ่านไป
        ๓.๒ ถ้าไม่คุ้นเคยกันขณะนั่งเก้าอี้หรือยืนอยู่ ให้ค้อมตัวเดินผ่านไป ไม่ต้องไหว้ ถ้าอาวุโสไม่มากนักหรือเท่าเทียมกันให้ค้อมตัวลงต่ำ และกล่าวคำขอโทษก่อนเดินผ่าน
การเดินผ่านหลังผู้อื่น
           ๑. ถ้าอาวุโสกว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะนั่งกับพื้น นั่งบนเก้าอี้หรือยืนอยู่ให้ค้อมตัวลงขณะเดินผ่าน มือทั้งสองข้าง
               แนบลำตัว
           ๒. ถ้าเป็นการเดินผ่านด้านหลังอย่างใกล้ชิดจนถึงต้องเบียดไป ถ้าเป็นผู้อาวุโสมาก ให้ค้อมตัวและไหว้
               พร้อมกับกล่าวคำขอโทษก่อนจะเดินผ่าน
           ๓. ถ้าอาวุโสไม่มากนักหรือเท่าเทียมกันให้ค้อมตัวลงต่ำและกล่าวคำขอโทษก่อนเดินผ่านไม่ต้องไหว้

การเดินผ่านผู้ใหญ่

ปีใหม่-การอวยพรผู้ใหญ่ ธรรมเนียมไทย-ให้ของขวัญ

Wednesday, September 26, 2012

ปีใหม่-การอวยพรผู้ใหญ่ ธรรมเนียมไทย-ให้ของขวัญ


ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถือเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี
ต่อมา ได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติและยึดถือมา
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสม และไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย
เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ต่างก็ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้วก็ควรจะใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปี เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่างๆ
จึงกำหนดให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นมา เป็นผลให้ปี พ.ศ.2483 ขาดไป 3 เดือน และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติ ให้ทางราชการ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หยุดงานที่เคยทำประจำ 2 วัน คือ วันที่ 31 ธันวาคม วันสิ้นปีเก่า และ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
ธรรมเนียมไทยแต่เดิมมา ก่อนวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั่วบริเวณ และตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามตามกำลังความสามารถ ในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากทำบุญตักบาตรหรือทำกุศลอื่นๆ ตามอัธยาศัยแล้ว ผู้น้อยนิยมไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรท่านให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองสืบไป
ประเพณีใหม่ที่เข้ามาสู่คนไทยในโอกาสนี้คือ การส่งบัตรอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตรที่สนิทสนมกัน เป็นการแสดงออกแห่งไมตรีจิตระหว่างกัน นับเป็นการประยุกต์นำวัฒนธรรมอื่นที่เหมาะสมมาใช้ในสังคมไทย ถือเป็นความเจริญทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง
การอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ นิยมปฏิบัติกันแพร่หลาย ด้วยการใช้บัตรอวยพร หรือ นิยมใช้สิ่งของ นำไปมอบให้ผู้ที่เคารพนับถือ ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายรวมทั้งผู้บังคับบัญชาในที่ทำงานเป็นเครื่องแสดงถึง การระลึกถึงคุณความดีและไมตรีจิตมิตรภาพ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
การอวยพรผู้ใหญ่ เรานิยมอวยพรกันในวันที่ 1 มกราคม ถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักมาก เช่น บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่รวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูง นิยมไปอวยพรในตอนเช้า
การมอบของขวัญแบบไทยซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าจะส่งเสริม คือ
1.กระเช้าดอกไม้หรือแจกันดอกไม้สดที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทยหรืออาจเป็นดอกไม้ประดิษฐ์จากกลุ่มแม่บ้านต่างๆ
2.กระเช้าเครื่องกระป๋องซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระราชดำริ หรือผลิตภัณฑ์ในโครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล
3.กระเช้าหรือถาดหรือตะกร้าผลไม้สดซึ่งเป็นผลไม้ไทย
4.กล่องหรือภาชนะหรือตะกร้าจักสานบรรจุผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้หรือขนมแห้ง ผลไม้กวนหรือขนมหวานแบบไทย
5.ประเภทเครื่องแต่งกาย อาจเป็นผ้าชิ้น โดยเฉพาะผ้าทอมือกำลังเป็นที่นิยม หรือเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตัดเย็บจากผ้าทอมือของไทยแล้วแต่กรณี
ของขวัญต่างๆ ควรจัดให้สวยงาม ด้วยการผูกโบว์สีสวยงามให้น่าดู ถ้าเป็นสิ่งของที่ต้องใส่กล่องควรหากระดาษห่อที่มีลวดลายสุภาพไม่ฉูดฉาดบาด ตา และห่อด้วยความประณีต ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์หัตถกรรมประเภทกระดาษสา กระดาษจากใยต้นกล้วย และกล่องที่ทำจากกระดาษดังกล่าวแล้วของไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพและความสวย งามประกอบกับราคาไม่แพง จึงน่าจะสนับสนุนนำมาใช้ในวาระปีใหม่
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงถึงรสนิยมของผู้ให้ รวมทั้งแสดงถึงการคารวะที่ผู้ให้มีต่อผู้รับและยังจะสร้างความประทับใจในการ มีส่วนร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย
การเลือกของขวัญ และบัตรอวยพร หรือบัตรส่งความสุข ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ที่มีอาวุโส ควรเลือกด้วยความพิถีพิถัน บัตรอวยพรหรือบัตรส่งความสุขควรเลือกที่เป็นภาพสวยงามแบบเรียบสีสุภาพ และเพื่อร่วมสนับสนุนกองทุนศิลปินแห่งชาติ ประชาชนสามารถซื้อบัตรอวยพร และผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึกผลงานศิลปินแห่งชาติในรูปแบบต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความสวยงามและคุณค่าของความเป็นไทย เพื่อใช้เป็นของขวัญอวยพรวันปีใหม่แบบต่างๆ ณ ที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในวันและเวลาราชการ

สำหรับการเลือกคำอวยพร ก็ควรใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เช่น
เนื่องในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก
จงบันดาลให้ท่านและครอบครัว (หรือตำแหน่ง)
ประสบด้วยจตุรพิธพรชัยตลอดไป
กราบอวยพรด้วยความเคารพ (อย่างสูง)
ลงชื่อ....................

การมอบของขวัญควรทำด้วยความเคารพนอบน้อมพร้อมทั้งกล่าวอวยพรดังข้อความ ข้าง ต้น ตามธรรมดาญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ให้พรแก่ลูกหลานหรือผู้อาวุโสน้อยกว่า เมื่อลูกหลานจะอวยพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพจำเป็นต้องขออนุญาตคุณพระศรีรัตน ตรัยดังกล่าวข้างต้นมาอวยพรแทน
ซึ่งเป็นประเพณีของคนไทยมาแต่โบราณ เมื่อลูกหลาน หรือผู้อ่อนอาวุโสกล่าวคำอวยพรและมอบของขวัญแล้ว ผู้ใหญ่จะให้พรตอบ และมอบของขวัญที่เตรียมไว้เพื่อเป็นการตอบแทนที่เขาเหล่านั้นได้สละเวลามี ค่ามาอวยพร เมื่อการอวยพรดำเนินไปเรียบร้อยแล้ว อาจใช้เวลาสำหรับพูดคุยกันตามความสนิทสนมคุ้นเคย
ในกรณีที่มีผู้ไปอวยพรกันอย่างคับคั่ง ผู้ไปร่วมอวยพรมิควรใช้เวลาพูดคุยนานเกินไป ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้าน หรือผู้อวยพรต่อไปใช้เวลาตามสมควร
นอกจากการมอบของขวัญแล้ว ในวันขึ้นปีใหม่ เราสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ทำบุญตักบาตร ทำความสะอาดอาคารสถานที่ โรงเรียน วัด สถานที่ทำงาน เครื่องนุ่งห่ม เพื่อต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ ทำบุญทำทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นต้น
เพื่อเริ่มต้นสิ่งดีๆ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่



ที่มา: พระไทยเน็ต, www.phrathai.net

มารยาทในการฟัง


มารยาทในการฟัง ถือเป็นวัฒนธรรมประจำ ชาติอย่างหนึ่งที่ผู้ฟังควรยึดถือและปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม การมีมารยาทในการฟังย่อมแสดงให้เห็นว่า บุคคลนั้นได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นผู้มีวัฒนธรรมอันดีงาม การมีมารยาทที่ดี ถือเป็นการให้เกียรติต่อผู้พูด ให้เกียรติ ต่อสถานที่และให้เกียรติต่อชุมชน มารยาทเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรยึดถือ และปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ความหมายของการฟัง
        การฟัง หมายถึงการรับสาร หรือเสียงที่ได้ยินทางหู การฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีมารยาทและรู้จักพินิจพิเคราะห์เนื้อหาของสาร ที่รับว่ามีข้อเท็จจริง อย่างไร รู้จักจับใจความสำคัญ ใจความย่อย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้รับสาร ได้ประโยชน์จากการฟังอย่างเต็มที่
การฟังที่ดี

        หลักการฟังที่ดี มีดังนี้
การฟังต้องมีจุดมุ่งหมาย
        ในการฟังเรื่องใด ๆ ก็ตาม ผู้ฟังควรตั้งจุดมุ่งหมาย ในการฟัง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ
        1) ฟังเพื่อความรู้ ได้แก่ การฟังเรื่องราวที่เป็นวิชาการ ข่าวสารและข้อแนะนำต่าง ๆ การฟังเพื่อความรู้ จำเป็นต้องฟังให้เข้าใจและจดจำสาระสำคัญให้ได้
        2) ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน คือ การฟังเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากภารกิจการงานและสิ่งแวดล้อม
        3) ฟังเพื่อให้ได้รับคติหรือความจรรโลงใจ คือ การฟังเรื่องที่ทำให้เกิดแนวคิด และสติปัญญา เกิดวิจารณญาณ ขัดเกลาจิตใจให้มีคุณธรรม การฟังประเภทนี้ต้องรู้จักเลือกฟัง และเลือกเชื่อในสิ่งที่ถูกที่ควรซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟัง มีคติในการดำเนินชีวิตไปในทางดีงาม และรู้จักสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคม
        การฟังทั้ง 3 ประการ อาจรับฟังได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ การประชุม ปาฐกถา ฯลฯ นอกจากนี้การฟังในแต่ละครั้ง ผู้ฟังอาจได้รับประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน หรือด้านใด ด้านหนึ่ง เฉพาะด้านซึ่งเป็นการฟังเพื่อประโยชน์ของตนเอง
การฟังต้องมีความพร้อม
        ซึ่งหมายถึงความพร้อมทางกาย คือมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ความพร้อมทางใจ คือมีจิตใจพร้อมที่จะรับฟัง ไม่วิตกกังวลในเรื่องอื่น และมีความพร้อม ทางสติปัญญา หมายถึง มีการเตรียมตัวที่จะใฝ่หาความรู้เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะรับฟังเพราะเรื่องบางเรื่องอาจต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เดิม หรือคำศัพท์ ทางวิชาการ เป็นต้น ถ้าผู้ฟัง ไม่มีความรู้มาก่อน อาจฟังไม่รู้เรื่องหรือจับใจความไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่ได้ประโยชน์จากการรับฟังเท่าที่ควร
การฟังต้องมีสมาธิ
        ในการฟังหรือการกระทำสิ่งใดก็ตาม จำเป็นต้องมีสมาธิ คือมีจิตใจจดจ่อในเรื่องนั้น ๆ ในการฟัง หากผู้ฟัง ฟังอย่างใจลอย หรือไม่ตั้งใจฟังเท่าที่ควร ก็ไม่สามารถจับใจความที่ฟังได้หมดครบถ้วน อาจทำให้เข้าใจไขว้เขว หรือไม่ได้เนื้อหาสมบูรณ์ การมีสมาธิในการฟังผู้ฟังต้องฝึกฝนตนเองให้รู้จักควบคุมจิตใจ โดยเอาใจจดจ่อในเรื่องที่ฟังเป็นพิเศษ
การฟังต้องมีความกระตือรือร้น
        คือสนใจและเล็งเห็นประโยชน์จากการฟังอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฟังด้วยจำใจหรือถูกบังคับ
การฟังต้องไม่มีอคติ
        การมีอคติ ได้แก่ การลำเอียง อาจจะเป็นลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง การลำเอียงทำให้แปลเจตนาในการฟังผิดความหมาย หรือคลาดเคลื่อนจากที่เป็นจริงได้ ถ้าผู้เรียนยึดถือ หลักการฟังทั้ง 5 ข้อนี้ ก็จะเป็นผู้รับสารด้วยการฟัง ได้ครบถ้วนตามความมุ่งหมาย

มารยาทในการฟัง
        ผู้มีมารยาท ในการฟังควรปฏิบัติตน ดังนี้
        1. เมื่อฟังอยู่เฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ควรฟังโดยสำรวมกิริยามารยาท ฟังด้วยความสุภาพเรียบร้อย และตั้งใจฟัง
        2. การฟังในที่ประชุม ควรเข้าไปนั่งก่อนผู้พูดเริ่มพูด โดยนั่งที่ด้านหน้าให้เต็มก่อนและควรตั้งใจฟังจนจบเรื่อง
        3. จดบันทึกข้อความที่สนใจหรือข้อความที่สำคัญ หากมีข้อสงสัยเก็บไว้ถามเมื่อมีโอกาสและถามด้วยกิริยาสุภาพ เมื่อจะซักถามต้องเลือกโอกาสที่ผู้พูดเปิดโอกาสให้ถาม หรือยกมือขึ้นขออนุญาตหรือแสดงความประสงค์ในการซักถาม ถามด้วยถ้อยคำสุภาพ และไม่ถามนอกเรื่อง
        4. มองสบตาผู้พูด ไม่มองออกนอกห้องหรือมองไปที่อื่น อันเป็นการแสดงว่าไม่สนใจเรื่องที่พูด และไม่เอาหนังสือไปอ่านขณะที่ฟัง หรือนำอาหารเครื่องดื่มเข้าไปรับประทานระหว่างฟัง
        5. ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเองกับผู้พูด แสดงสีหน้าพอใจในการพูด ไม่มีแสดงกิริยาก้าวร้าว เบื่อหน่าย หรือลุกออกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นขณะฟัง
        6. ฟังด้วยความสุขุม ไม่ควรก่อความรำคาญให้บุคคลอื่น ควรรักษามารยาทและสำรวมกิริยา ไม่หัวเราะเสียงดังหรือกระทืบเท้าแสดงความพอใจหรือเป่าปาก
        7. ฟังด้วยความอดทนแม้จะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้พูดก็ควรมีใจกว้างรับฟังอย่างสงบ
        8. ไม่พูดสอดแทรกขณะที่ฟัง ควรฟังเรื่องให้จบก่อนแล้วค่อยซักถามหรือแสดงความคิดเห็น
        9. ควรให้เกียรติวิทยากรด้วยการปรบมือ เมื่อมีการแนะนำตัวผู้พูด ภายหลังการแนะนำ และเมื่อวิทยากร พูด จบ

ประโยชน์ของการฟัง
         ประโยชน์ส่วนตน
        1.1 การฟังเป็นเครื่องมือของการเขียน ผู้ที่เรียนหนังสือได้ดีต้องมีการฟังที่ดีด้วย คือ ต้องฟังคำอธิบายให้รู้เรื่องและจับใจความสำคัญให้ได้จึงจะทำให้การเรียนมี ประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำอธิบายในห้องเรียน การฟังอภิปราย การฟังบทความ ล้วนแต่ช่วยพัฒนาสติปัญญาทำให้เกิดความรู้และเกิดความเฉลียวฉลาดจากการฟัง
        1.2 การฟังช่วยให้ผู้ฟังพัฒนาความสามารถในการพูด พัฒนาความสามารถในการใช้ภาษา เพราะการฟังทำให้ผู้ฟังมีความรู้กว้างขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้น
        1.3 การฟังช่วยปูพื้นฐานความคิดที่ดีให้กับผู้ฟัง ซึ่งจะได้จากการฟังเรื่องราวที่มีคุณค่ามีประโยชน์จากผู้อื่น ช่วยพัฒนาสติปัญญาแก่ผู้ฟัง การได้รับข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ได้
        1.4 การฟังช่วยให้ผู้มีมารยาทในการฟัง สามารถเข้าสังคมกับผู้อื่นได้เช่น รู้จักฟังผู้อื่น รู้จักซักถามโต้ตอบได้ตามกาลเทศะ

         ประโยชน์ทางสังคม
        2.1 การฟังทำให้เกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เช่น การฟังประกาศ ฟังปราศรัย ฟังการอภิปราย เป็นต้น
        2.2 การฟังช่วยให้ประพฤติดี ปฏิบัติให้สังคมเป็นสุข เช่น ฟังธรรม ฟังเทศนา ฟังคำแนะนำ การอบรม เป็นต้น

การพัฒนาสมรรถภาพการฟัง
        1. สร้างความสนใจและความต้องการที่จะฟัง ผู้ฟังที่ดีต้องให้ความสนใจกับเรื่องที่ฟังแม้ว่าเรื่องที่ฟังจะ ไม่ตรงกับความสนใจของตนเองก็ตาม ผู้ฟังต้องรู้หัวข้อเรื่องรวมทั้งจุดประสงค์ว่าฟังเพื่ออะไร
        2. ฟังด้วยความตั้งใจ เป็นการฟังอย่างมีสมาธิ จิตใจจดจ่อกับเรื่องที่ฟัง
        3. จับใจความสำคัญของเรื่องและคิดวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวที่ฟัง
   1. จับใจความให้ได้ว่า เรื่องที่ฟังเป็นเรื่องอะไร เกิดที่ไหน เรื่องเป็นอย่างไร
   2. วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวที่ฟังว่าเป็นอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ ผลเป็นอย่างไร
   3. แยกแยะข้อความว่าตอนใดเป็นข้อเท็จจริง ตอนใดเป็นข้อคิดเห็น
   4. พิจารณาจุดมุ่งหมายในการพูดของผู้พูด รวมทั้งเหตุผลที่นำมาสนับสนุนการพูด
        ในการฟัง ดู และพูด เรื่องราวต่างๆ จากการผ่านสื่อใดหรือโดยใครก็ตาม ผู้ฟัง ผู้ดูและผู้พูด จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าเป็นไปได้อย่างไร แค่ไหนเพราะถ้าเชื่อทุกเรื่อง บางครั้งอาจจะตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่ปรารถนาดีได้ง่าย ผู้ฟังต้องวิเคราะห์จุดประสงค์ในการพูดว่าผู้พูดต้องการให้อะไรกับผู้ฟัง ข้อความตอนใดเป็นข้อเท็จจริง ตอนใดเป็นข้อคิดเห็น ข้อเท็จจริง มีหลักฐานเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ข้อคิดเห็นนั้นมีเหตุผลมีความเป็นไปได้หรือน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด


ที่มา: คลังปัญญาไทย, www.panyathai.or.th
 

มารยาทในการทำความเคารพพระมหากษัตริย์

มารยาทในการทำความเคารพพระมหากษัตริย์

          พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคน ประเทศชาติจะดำรงอยู่ก็เพราะมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจใน การต่อสู้กับอริราชศัตรู ในการรักษาเอกราชของประเทศ หรือในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ฯลฯ
          พระองค์มีธงมหาราชเป็นธงประจำตัวของพระองค์ เวลาพระองค์เสด็จไปไหนธงนั้นจะปักอยู่หน้ารถพระที่นั่ง และเพลงสรรเสริญพระบารมีเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนตัวพระองค์ ฉะนั้น คนไทยทุกคน ควรจะมีมารยาทในการทำความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ดังต่อไปนี้
๑. ยืนตรงทำความเคารพพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระโอรส พระธิดา หรือตัวแทนพระองค์ ชายถวายคำนับ หญิงถอนสายบัว
การถวายคำนับปฏิบัติดังนี้
         ๑) ถ้าแต่งเครื่องแบบและสวมหมวก ให้ยืนตรงแล้วกระทำวันทยาหัตถ์
         ๒) ถ้าไม่ได้สวมหมวก ให้ยืนตรงหันหน้าไปทางพระองค์ท่านแล้วถวายคำนับ
        การถวายคำนับให้ก้มศีรษะและส่วนไหล่ลงช้าๆ ต่ำพอควร กระทำครั้งเดียว แล้วยืนตรงอย่าผงกศีรษะ       เร็วเกินไป
หมายเหตุ  ถ้าสวมหมวกอื่นที่ไม่ใช่เครื่องแบบ คือ ไม่ได้แต่งเครื่องแบบแต่สวมหมวกต้องถอดหมวก โดยใช้มือขวาถอด หมวก สอดหมวกไว้ซอกแขนซ้ายแนบลำตัว แล้วยืนตรง หันไปทางพระองค์ท่านแล้วถวายคำนับ
การถอนสายบัวปฏิบัติดังนี้
         ๑) ยืนตรง เท้าชิด หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน
         ๒) ชักขาข้างใดข้างหนึ่งไปทางหลัง โดยวาดปลายเท้าไป่ทางอีกด้านหนึ่งของขาที่ยืน ทำพร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ
         ๓) เมื่อจวนจะต่ำสุด ให้ยกมือทั้งสองขึ้นวางประสานกันบนหน้าขาซ้ายที่ย่อต่ำลง ให้ค่อนไปทางเข่า
         ๔) ก้มศีรษะต่ำลงเล็กน้อย แล้วเงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักขาข้างที่ไขว้กลับที่เดิม แล้วยืนและตั้งเข่าให้ตรง
๒. ยืนตรงทำความเคารพเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้ง ให้ยืนขึ้นอย่างสุภาพและระวังตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านหรือพระบรมฉายาลักษณ์ หรือองค์ประธานของเพลงเคารพ หรือยืนหันไปทางเสียงที่ได้ยิน ยืนตรงจนจบเพลง ถ้าเป็นการบรรเลงที่ปรากฎพระองค์ ต้องถวายความเคารพเมื่อเห็นพระองค์ครั้งหนึ่ง เมื่อจบเพลงให้ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่งแล้วนั่ง หรือเคลื่อนที่ไปแล้วแต่กรณี
๓. ร้อยเพลงสรรเสริญพระบารมีได้
๔. เทิดทูนพระองค์ในทุกโอกาส
๕. ตั้งรูปของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระโอรส พระธิดา ไว้ในที่สูง
        การถวายบังคม เป็นการถวายความเคารพพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีตามประเพณีไทยตั้งแต่ สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน กระทำได้ทั้งหญิงและชาย มีวิธีปฏิบัติแบบเดียวกัน
       ท่าเตรียม นั่งคุกเข่า ปลายเท้าทั้งสองตั้งลงยันพื้น นั่งทับลงบนส้นเท้า สำหรับชายให้แยกเข่าห่างประมาณ ๑ คืบของตน สำหรับหญิงให้แยกเข่าเล็กน้อยพองาม ตั้งตัวตรง ยกอกขึ้น อย่าห่อไหล่หรือยกไหล่ วางมือทั้งสองคว่ำลงบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน
การถวายบังคมมือ ๔ จังหวะ คือ
        จังหวะที่ ๑ ยกมือขึ้นประณมตรงระดับทรวงอก ให้ปลายนิ้วตั้งตรงระดับปลายคาง
        จังหวะที่ ๒ ทอดแขนพร้อมมือที่ประณมหันไปข้างหน้า ให้ปลายมือต่ำลงแต่ไม่ห้อย ปลายนิ้วมืออยู่ระหว่างระดับท้อง โน้มตัวลงตามมือเล็กน้อย
         จังหวะที่ ๓ วาดมือขึ้นจรดหน้าผาก ให้หัวแม่มืออยู่กลางหน้าผาก ลำตัวเฉพาะเหนือสะเอวขึ้นไปเอนไปข้างหลัง ชายเอนมากกว่าหญิง เงยหน้าให้อยู่ระดับ ๔๕ องศา แต่ไม่ถึงกับหงายหน้า ให้ตาอยู่ระดับนิ้วหัวแม่มือ ระดับของลำตัวในขณะที่มืออยู่ระดับจรดหน้าผากจะต้องเอนเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เอนจนหงาย หรือแหงนแต่คอ ท่าเอนนี้ลำตัวจะโค้งด้วยเล็กน้อย ศอกจะกางออก
         จังหวะที่ ๔ ลดมือลงพร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้า วาดแขนและมือลงในระดับช่วงเข่า (หน้าท้อง) ปลายมือต่ำ ยกปลายมือขึ้นในท่าประณม ปลายมือตั้งขึ้น พร้อมกับเลื่อนมือขึ้นสูงระดับอก และยกตัวขึ้นตรง
ทำเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง แล้วลดมือลงในระดับอก เบนปลายนิ้วจากทรวงอกลงแบบอัญชลีแล้วจึงปล่อยมือวางที่หน้าขาตามเดิม แล้วเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่าหมอบ
ที่มา: ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. บริษัทสำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพาณิช จำกัด


ภาพจาก : http://www.kanchanapisek.or.th/kp8/mthai/res.html

มารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม

Monday, September 24, 2012



       ไป ลามาไหว้ มารยาทไทยที่เป็นวัฒนธรรมการทักทายเวลาพบปะกันหรือลาจากกัน “ การไหว้ ” เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการกล่าวคำว่า “ สวัสดี ” แล้วยังแสดงออกถึงความหมาย “ การขอบคุณ ” และ “ การขอโทษ ” การไหว้เป็นการแสดงมิตรภาพ มิตรไมตรี ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ซึ่งนับวันจะค่อย ๆ เลือนลางออกไปจากสังคมไทย ด้วยเยาวชนไทยส่วนใหญ่รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมายึดถือปฏิบัติ เช่น การทักทายกันด้วย การจับมือ ด้วยการผงกหัวหรือพยักหน้าต้อนรับกัน โดยปกติความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นวัฒนธรรมไทยที่แสดงความเคารพด้วยการไหว้ผู้ อาวุโส หรือการรับไหว้ผู้อาวุโสน้อย ปัจจุบันกลายเป็นวัฒนธรรมที่เกิดเฉพาะกลุ่ม แทนที่จะเป็นวัฒนธรรมในสังคมของคนทุกชนชั้น

                  ด้วยสาเหตุที่เยาวชนไทยมองข้ามวัฒนธรรมไทยที่ดีงามถูกต้อง มารยาทในสังคมไทยจึงผิดเพี้ยนไป สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดการเผยแพร่ความรู้เรื่องมารยาท ไทยอย่างต่อเนื่อง และได้หยิบยกมารยาทในการพบปะสมาคมในสังคมที่สำคัญมีดังนี้

๑. การรู้จักวางตน ต้องเป็นคนมีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว อวดรู้ อวดฉลาด อวดมั่งมี และไม่ควรตีตัวเสมอผู้ใหญ่ แม้ว่าจะสนิทสนมหรือคุ้นเคยกันสักปานใดก็ตาม
๒. การรู้จักประมาณตน มีธรรมของคนดี ๗ ได้แก่ รู้จัก เหตุผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล โดยไม่ทำตัวเองให้เด่น เรียกร้องให้คนอื่นสนใจ หรือสร้างจุดสนใจในตัวเรามากเกินไป ตัวอย่าง คำเตือนของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าวไว้ว่า “ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน ”
๓. การรู้จักการพูดจา ต้องไม่ทักทายปราศรัยกับคนด้วยคำพูดที่จะทำให้คนเขาเกิดความอับอายในสังคม และ ไม่คุยเสียงดังหรือยักคิ้วหลิ่วตาทำท่าทางประกอบจนทำให้เสียบุคลิกภาพได้
๔. การรู้จักควบคุมอารมณ์ คือ รู้จักข่มจิตของตน ไม่ใช่อารมณ์รุนแรงเพื่อไม่ให้ล่วงสิ่งที่ไม่ควรล่วง ได้แก่ การข่มราคะ โทสะ โมหะ ไม่ให้กำเริบเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รู้จักข่มอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่พูด และแสดงกิริยาประชดประชัน หรือส่อเสียด
๕. การสำรวมกิริยาเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ ขณะที่เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มตัวพองาม หรือหากผู้ใหญ่กำลังเดินไม่ควรวิ่งตัดหน้า ควรหยุดให้ผู้ใหญ่เดินไปก่อน หรือไม่ควรเดินผ่านกลางขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูดกัน
๖. การรู้จักควบคุมอิริยาบถ ถือเป็นคุณสมบัติที่ดี เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงก็ไม่ควรเขย่าตัว กระดิกเท้า หรือเคาะจังหวะโดยไม่เลือกสถานที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ควบคุมอิริยาบถ และไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ
๗. ความมีน้ำใจไมตรีอันดีต่อกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขด้วยความรักและเข้าใจกัน ควรมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ ทุกข์สุขของผู้เกี่ยวข้องมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ที่สำคัญคือมีน้ำใจในการช่วยเหลือ หรือช่วยทำประโยชน์ให้แก่สังคม
๘. การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคุณธรรมชั้นสูงของการอยู่ร่วมกันในสังคม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์มีอุดมการณ์สำคัญคือ “ การช่วยเหลือผู้อื่น ” พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นปัจฉิมโอวาท ความว่า “ จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด ” การยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สังคมจะมีสันติสุข คือ มีความสงบสุข ถ้าบุคคลในสังคมรู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ลักษณะการแสดงความเคารพด้วยการไหว้ ที่เป็นมารยาทในสังคมที่ควรปฏิบัติกัน คือ
                   การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น
                  การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือ แล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่า เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล
                  - ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก
                   - ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือ แล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว
                   - ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก

                  อนึ่ง สำหรับหญิงการไหว้ทั้ง ๓ ระดับ อาจจะถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าว แล้วย่อเข่าลงพอสมควรพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้
                  โดยปกติวัฒนธรรมการไหว้เป็นวิถีชีวิต ที่ถูกปลูกฝังให้รู้จักกาลเทศะ รู้จักการเคารพผู้อาวุโส กตัญญูรู้บุญคุณ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีมารยาทในสังคมดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในเรื่องการเคารพผู้อาวุโส ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงความเคารพในโอกาสต่าง ๆ การรู้จักจัดลำดับการวางตนที่ถูกต้องตามประเพณีที่วางเอาไว้ ทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม เพราะการปฏิบัติขัดกับประเพณีที่วางไว้ จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขัดเคืองความรู้สึกซึ่งกันและกัน การมีกฎเกณฑ์มารยาทในสังคมเป็นบรรทัดฐานให้บุคคลดำเนินชีวิตได้อย่างสันติ สุข
เอกสารอ้างอิง หนังสือคู่มือวัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย โดยอาจารย์ กนก จันทร์ขจร
..............................................


กฤษณา พันธุ์มวานิช
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2550&MM=8&DD=4
ภาพจาก :  http://www.bannangio.com/index.php?mo=5&qid=284672

 

มารยาทในการแต่งกายที่พึงประสงค์

 

        การแต่งกายเป็นมารยาททั่ว ๆ ไปซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันตามแต่โอกาสที่เหมาะสม เช่น แต่งกายไปทำงาน,ไปวัด ทำบุญ,ไปเล่นกีฬา และงานพิธีต่าง ๆ หรือการแต่งกายที่อยู่ในเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ บริษัทห้างร้านที่กำหนดให้พนักงานแต่งกาย เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบที่กำหนดถือว่าเป็นผู้มีมารยาทในการ แต่งกายที่ดี

      เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาผู้ที่พบเห็น ถ้าแต่งกายเหมาะสมก็จะก่อให้เกิดความประทับใจในทางที่ดี หากแต่งตัวไม่เหมาะสมผู้อื่นก็จะมองเราในลักษณะที่ไม่สู้ดีนัก แม้จะเป็นความจริงว่าคนเลวอาจซ่อนร่างอยู่ในเครื่องแต่งกายที่เรียบร้อยสวย งามก็ได้ แต่ถ้าคนดีมีความรู้ความสามารถนั้นหากแต่งกายไม่เหมาะสม คนที่พบเห็นครั้งแรกอาจไม่เกิดความนิยม เลื่อมใส และเป็นการปิดโอกาสของตนเองที่จะได้แสดงความดีและความสามารถ ดั้งนั้น การแต่งกายจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก หลักสำคัญเกี่ยวกับการแต่งกาย คือ แต่งกายสะอาด แต่งกายสุภาพเรียบร้อย และแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ

      การแต่งกายสะอาด ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสะอาดในที่นี้ไม่เกี่ยวกับ ความเก่าความใหม่ เพราะเครื่องแต่งกายที่ใหม่อาจสกปรกก็ได้ และเครื่องแต่งกายที่เก่ามีรอยปะชุนก็อาจดูสะอาดได้ หรือเครื่องแต่งกายราคาแพงก็อาจดูสกปรกได้ แต่เครื่องแต่งกายราคาถูกก็ดูสะอาดได้ ดังนั้น คนฐานะที่ไม่ดีนักก็สามารถแต่งตัวสะอาดได้เท่ากับคนฐานะดี โดยเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่นั้นก็ควรซักรีดให้เรียบร้อย รองเท้าก็ขัดให้ดูพองาม กระเป๋าก็เช็ดถูให้ดูสะอาดเหล่านี้ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่จะทำหรือไม่เท่านั้น อนึ่งการอาบน้ำชำระกายให้สะอาด และการดูแลเล็บมือ เล็บเท้ามิให้สกปรก ก็เป็นสิ่งที่ควรดูแลรักษาทำความสะอาดด้วย
     การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย การแต่งกายควรแต่งให้เรียบร้อยพอควร เพราะ คนแต่ละคนหรือสังคมแต่ละแห่ง อาจมีเกณฑ์วัดความสุภาพเรียบร้อยต่างกันออกไป แต่ถ้าใช้สามัญสำนึกสักหน่อย ก็จะพอรู้ว่าในสังคมไทยแต่งกายอย่างไรจึงจะถือว่าแต่งกายเรียบร้อย  และอย่างไรถือว่าไม่เรียบร้อย เช่น การใส่เสื้อกล้ามไปร้านอาหาร  การแต่งกายโดยเปิดเผยให้เห็นส่วนของร่างกายที่ควรสงวน หรือใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนน่าเกลียด หรือสวมกระโปรง กางเกงที่สั้นมาก ๆ เพื่อต้องการแสดงและเน้นสรีระของร่างกาย โดยเฉพาะการแต่งกายดังกล่าวข้างต้นไปในสถานที่ควรแก่การสักการะบูชา เช่น ศาสนสถาน วัด  โบสถ์ หรือสถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย

       การแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ การแต่งกายนอกจากจะสะอาดและมีความสุภาพเรียบร้อยแล้ว ควรให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและให้เหมาะกับสถานที่ที่จะไปด้วย การแต่งกายที่ผิดสมัยนิยมนั้นหากสะอาดและสุภาพเรียบร้อยก็ไม่น่าจะมีอะไร เสียหายมาก แต่คนอาจมองว่าเชยเท่านั้น ดังนั้นการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรระวังแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ดังนี้  
             
          ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับงานที่จะไป เช่น ไม่แต่งชุดดำไปงานแต่งงาน ไม่แต่งสีฉูดฉาดไปงานศพ เป็นต้น แต่งกายให้เกียรติเจ้าภาพของงานตามสมควร เช่น ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงจะแต่งลำลองอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าไปงานแต่งงานที่จัดหรูหราเป็นพิธีรีตรอง จะสวมใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ไปคงไม่เหมาะสม เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติเจ้าภาพ แต่ถ้าเรามีเงินน้อย ไม่มีชุดสากลหรือชุดพระราชทาน จะใส่กางเกงและเสื้อธรรมดาไปก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องสะอาดและสุภาพเรียบร้อย

          การแต่งกายอย่างหนึ่งอาจเหมาะสมกับที่หนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับอีกที่หนึ่ง เช่น ใส่ชุดว่ายน้ำอยู่ที่ชายหาดหรือริมสระว่ายน้ำ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเดินไปในที่ห่างจากชาดหาดและสระมาก ๆ ก็ดูไม่เหมาะสม หรือการสวมรองเท้าแตะที่บ้าน หรือเดินเล่นนอกบ้านก็ไม่เป็นไร แต่จะใส่ไปโรงเรียนหรือไปทำงานบางอย่างก็ถือว่าเป็นการไม่เหมาะสม เป็นต้น ความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยสำคัญที่สุด เพราะคนเรานั้นต่างจิตต่างใจกัน คนหนึ่งว่าเหมาะอีกคนว่าไม่เหมาะ ดังนั้นถ้ามีปัญหาก็ให้ยึดหลักความสะอาดและสุภาพไว้ก่อน ซึ่งใช้ได้ทุกกรณี อันที่จริงการแต่งกายสะอาดและสุภาพแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นจนเกินไป

           ดังนั้น มารยาทการแต่งกายที่พึงประสงค์ จึงไม่ได้หมายถึง การแต่งกายตามแฟชั่น แต่เป็นการแต่งกายที่จะต้องคำนึงถึงความสุภาพเรียบร้อย สะอาด ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อมีผู้พบเห็นจะรู้สึกทันทีว่าผู้ที่แต่งกายดีถูกต้องตามกาลเทศะ คือ คนที่ควรได้รับการชมเชย จากสังคมและผู้ปฏิสัมพันธ์ด้วย ในมุมกลับกันหากแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย ก็จะเกิดคำตำหนิ ติเตียน จากผู้ที่พบเห็น ทำให้เสื่อมเสียทั้งตนเอง สถานบันครอบครัว และสถานศึกษา ดังตัวอย่างการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมดั่งที่เป็นข่าว จึงขอฝากข้อควรคำนึงถึงการแสดงมารยาทที่พึงประสงค์ต่อสถานที่อันควรเคารพ สักการะ ได้แก่ แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ถอดหมวก ถอดรองเท้า ลดร่มลง ไม่แสดงอาการเหยียดหยามหรือพูดคำหยาบ ไม่ส่งเสียงเอะอะอื้ออึง และทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่กล่าวคำทำนองว่าไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาต่อสถานศักดิ์สิทธิ์นั้น ทำใจเป็นกลาง ไม่คิดแต่จะจับผิด เนื่องจากถือว่าเป็นสถานที่ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาที่ตนนับถือ ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เขาปฏิบัติกัน ยกเว้นธรรมเนียมนั้นจะขัดกับศรัทธาของตนหรือขัดกับหลักคำสอนของศาสนาที่ตน นับถือ คำนึงอยู่เสมอว่าสถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาใด ศาสนิกชนในศาสนานั้นก็เคารพสักการะ อย่าแสดงอะไรที่เป็นการทำลายน้ำใจกัน


เอกสารอ้างอิง  หนังสือพระพุทธศาสนา โดย ศ.ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ และรศ.เสฐิยรพงษ์  วรรณปก
....................................................................

กฤษณา พันธุ์มวานิช
            กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2550&MM=3&DD=3
 

การแต่งกายในการเข้าเฝ้าฯ

 

ประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งในโลกที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น จึงมีระเบียบแบบแผนที่เป็นธรรมเนียมในการเข้าเฝ้าต่างๆไม่ว่าจะเป็น คำกราบ บังคมทูล การแสดงความเคารพ การนั่งการยืน และการแต่งกาย ฯลฯ ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเรียบร้อย งดงาม เพราะถือเป็นวัฒนธรรมของชาติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้าฯที่ประชาชน เยาวชน หรือแม้แต่ข้าราชการรุ่นใหม่หลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่าแต่ละโอกาสจะต้อง แต่งกันอย่างไร บางคนก็อาจสงสัยว่าชุดที่คล้ายเครื่องแบบปกติขาว ที่มีเอกชนสวมใส่อยู่ในบางงานจะใช่ชุดข้าราชการหรือไม่ คนทั่วไปจะแต่งได้อย่างไร ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจะได้บอกกล่าวกันต่อไป ก่อนอื่นควรทราบความหมายของคำว่า พระราชพิธี รัฐพิธี และพิธี เสียก่อน

พระราชพิธี หมายถึง งานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้เป็นประจำตามราชประเพณี ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธี โดยก่อนวันพระราชพิธีจะมีหมายกำหนดการ (เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีโดยเฉพาะ)ในการเสด็จฯไปทรง ประกอบพระราชกรณียกิจ ซึ่งโดยปกติแล้วคณะรัฐมนตรี และผู้มีตำแหน่งตามที่กำหนดให้เฝ้าฯต้องมีหน้าที่ไปเข้าเฝ้าฯในพระราชพิธี ด้วย ยกเว้นเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์หรือเป็นการภายใน พระราชพิธีที่บุคคลสำคัญหรือมีตำแหน่งต้องไปเข้าเฝ้าฯ ได้แก่ วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา การบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น

รัฐพิธี หมายถึง งานที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาให้ทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี มีหมายกำหนดการที่กำหนดไว้เป็นประจำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯไปทรงเป็นประธานในพิธีหรืออาจจะทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีผู้แทนพระองค์ไปแทนก็ได้ พูดง่ายๆคือถ้าเป็นพระราชพิธี จะเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเอง ส่วนรัฐพิธี รัฐบาลจะเป็นฝ่ายกำหนด แล้วขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จฯ ซึ่งรัฐพิธีในปัจจุบันที่คณะรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญต้องไปเฝ้าฯ ได้แก่ วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วันกองทัพไทย) วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรม ราชวงศ์ วันปิยมหาราช และวันรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

พิธี หมายถึง งานทั่วๆไปที่บุคคลจัดขึ้นตามลัทธิ หรือตามแบบอย่างธรรมเนียมประเพณีของสังคมหรือท้องถิ่นนั้นๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีบวช พิธีศพ เป็นต้น

โดยปกติทั่วไป เมื่อเราจะไปไหนมาไหน ย่อมจะแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะหรืองานที่จะไปอยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลที่มีหน้าที่เข้าเฝ้าฯ ในงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือผู้เกี่ยวข้อง เมื่อจะเข้าเฝ้าฯยิ่งจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของการแต่งกายให้ถี่ถ้วนตาม ที่กำหนดในหมายกำหนดการ หรือหมายรับสั่งของสำนักพระราชวัง(เป็นหมายสั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพระราช พิธีเป็นการภายใน ซึ่งผู้สั่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) หรือกำหนดนัดหมายในส่วนของราชการนั้นๆเองให้ถูกต้องด้วย เพื่อมิให้ผิดแบบแผนหรือธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งโดยทั่วไป การแต่งกายเข้าเฝ้าฯ จะกำหนดเป็นเครื่องแบบพิธีการ อยู่ ๓ แบบคือ ดังนี้
เครื่องแบบปกติขาว ซึ่งจะเป็นเครื่องแบบที่ประชาชนและข้าราชการเองคุ้นชินที่สุด เพราะเห็นและสวมใส่บ่อยในงานพระราชพิธี และรัฐพิธีต่างๆ มีรูปแบบคือ

บุรุษ จะเป็นเสื้อคอปิด แขนยาวสีขาว มีกระเป๋าที่อกเสื้อสองข้างและมีใบปกกระเป๋า สวมกางเกงขายาวแบบราชการสีขาว ใช้กระดุมโลหะสีทองตราครุฑพ่าห์ขนาดใหญ่ ๕ เม็ด รองเท้าหนังหุ้มส้น หรือจะเป็นวัตถุเทียมหนังสีดำก็ได้ ชนิดผูก และสวมถุงเท้าสีดำ

สตรี สวมเสื้อนอกคอแบะสีขาว แบบคอแหลม กระดุม ๕ เม็ด หรือคอป้าน กระดุม ๓ เม็ด กระดุมแบบเดียวกับบุรุษแต่ขนาดเล็กกว่า มีกระเป๋าเจาะด้านล่าง ๒ ข้าง สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวภายใน ผูกผ้าพันคอสีดำเงื่อนกลาสี (ผูกเนคไทดำ) กระโปรงขาวยาวคลุมเข่า ใช้รองเท้าหนังหุ้มส้นสีดำ หรือวัตถุเทียมหนังสีดำแบบปิดปลายเท้า ไม่มีลวดลาย และสวมถุงเท้ายาวสีเนื้อ

ทั้งนี้ การประดับแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะอยู่ที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ถ้าหากหมายกำหนดการกำหนดให้แต่งปกติขาวประดับเหรียญ ก็ให้ประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ เช่น เหรียญรัชดาภิเษก เหรียญรัตนาภรณ์ เป็นต้น และไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น สำหรับเครื่องหมายสังกัดของแต่ละหน่วยงาน ให้ติดที่ปกคอเสื้อ เช่น กระทรวงวัฒนธรรมเป็นรูปบุษบก ส่วนอินทรธนูติดที่บ่า

เครื่องแบบเต็มยศ ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนเครื่องแบบปกติขาว ยกเว้นกางเกงและกระโปรงให้ใช้สีดำ และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (สวมสายสะพาย ถ้ามี)

เครื่องแบบครึ่งยศ ลักษณะและส่วนประกอบเหมือนเครื่องแบบเต็มยศ แต่ไม่ต้องสวมสายสะพาย
หากเป็นข้าราชการนอกประจำการ ให้แต่งกายตามหมายกำหนดการหรือหมายรับสั่งของสำนักพระราชวัง โดยมีลักษณะและส่วนประกอบเช่นเดียวกับขณะประจำการ เพียงแต่ให้ติดเครื่องหมาย นก (นอ –กอ อันหมายถึงนอกประจำการ ทำด้วยโลหะโปร่งสีทอง สูง ๒ ซม.)ที่ปกคอเสื้อด้านหน้าข้างขวา
อนึ่ง ผู้ที่มิใช่ข้าราชการ และไม่อยู่ในกฎหมายหรือข้อบังคับของทางราชการให้มีเครื่องแบบเฉพาะการแต่ง กายเข้าเฝ้าฯในโอกาสต่างๆ สามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบพิธีการ คือ

บุรุษ ให้แต่งกายด้วยชุดขอเฝ้าเต็มยศ ชุดขอเฝ้าครึ่งยศ ชุดขอเฝ้าปกติขาวแล้วแต่กรณี ลักษณะคือ เสื้อนอกเป็นเสื้อคอปิดสีขาวแบบราชการ แนวเสื้อมีกระดุมสีทองขนาดใหญ่ ๕ เม็ด กางเกงขายาวแบบสากลไม่พับปลายขา โดยมีเครื่องประกอบชุดคือ ดุมเสื้อ (เป็นดุมเกลี้ยงทำด้วยโลหะสีทอง) แผ่นทาบคอ (พื้นกำมะหยี่สีดำ มีกิ่งชัยพฤกษ์ประกอบด้วยใบข้างละ ๕ ใบ ปักด้วยดิ้นสีทอง และที่กึ่งกลางมุมแหลมติดดุมโลหะสีทองขนาดเล็กข้างละ ๑ เม็ด) ไม่มีอินทรธนูติดบ่า ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ได้รับพระราชทานหรือตามที่กำหนดในหมายฯ ซึ่งชุดนี้เองที่เรามักเห็นบุคคลอื่น ที่มิได้เป็นข้าราชการแต่งกันในงานพิธีการต่างๆ เช่น ชุดที่นายพานทองแท้ ชินวัตร สวมในวันที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มีนาคมที่ผ่านมา เป็นต้น

ส่วน สตรีให้แต่งชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมานประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือแต่งชุดไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ และไทยบรมพิมานประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วแต่กรณี

โดยทั่วไป การแต่งกายสำหรับงานพระราชพิธี และรัฐพิธีนั้น จะมีเขียนไว้ในหมายกำหนดการว่าให้แต่งกายแบบไหนและประดับเครื่องราช อิสริยาภรณ์แบบใดไว้ด้วย เช่น พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน จะมีกำหนดว่า เครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี หรือมงกุฎไทย เป็นต้น ก็แต่งตามที่กำหนด หรือสูงสุดเท่าที่มี

ในการแต่งกายเต็มยศเข้าเฝ้าฯนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าบางท่านทำไมสวมสายสะพายสีเหลือง บางท่านก็สีชมพูหรือบางท่านก็สีอื่นๆ แล้วยังสะพายเฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสายสะพายและแพรแถบแต่ละตระกูลก็มีสีและมีความหมายเฉพาะ ไม่เหมือนกัน เช่น สายสะพายจักรี จะเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระบรมราชวงศ์ เป็นต้น ส่วนการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็มีระเบียบที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้อง ประดับอย่างไร เช่น ผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ม.ป.ช.(มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก)และ ม.ว.ม.(มหาวชิรมงกุฏ) หากในหมายฯกำหนดให้แต่ง เต็มยศช้างเผือก ก็ต้องแต่งชุดเต็มยศ โดยสวมสายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกตามที่กำหนด โดยสะพายจากบ่าซ้ายเฉียงไปขวา แล้วประดับดาราม.ป.ช.และม.ว.ม.ที่ได้รับตรงอกเสื้อเบื้องซ้าย เป็นต้น แต่ถ้าในกรณีบอกให้แต่งเต็มยศแล้วไม่ระบุสายสะพายตระกูลใด ให้สวมสายสะพายชั้นสูงสุดที่ได้รับ ยกเว้นกำหนดไว้ว่า ให้แต่งเต็มยศ และระบุสายสะพายตระกูลอื่นๆ เช่น เต็มยศจักรี ก็ให้สวมสายสะพายมหาจักรี ตามที่กำหนด หากไม่มีสายสะพายตามที่ว่า ให้สวมสายสะพายที่ได้รับพระราชทานชั้นสูงสุดแทน
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาเพียงสังเขป ซึ่งหวังว่าคงจะทำให้ท่านได้เข้าใจการแต่งกายเข้าเฝ้าฯมากขึ้นพอสมควร หรือหาอ่านรายละเอียดได้ในหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักนายก รัฐมนตรี

……………………………….


อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
 http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2548&MM=4&DD=11

มารยาทที่ควรก้าวไปพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

 

  มารยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาละเทศะ เป็นกรอบหรือแบบแผนซึ่งควรปฏิบัติหรือละเว้น ถือเป็นเรื่องที่มีอยู่ในคนทุกชาติ ทุกภาษา โดยต่างก็จะมีการสั่งสอนหรือถ่ายทอดวัฒนธรรมทางมารยาทของตนแตกต่างกันออกไป ตามที่เห็นว่าเหมาะสม อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก จนทำให้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก และโทรคมนาคมต่างๆที่ถือว่าเป็นของทันสมัย เช่น โทรศัพท์มือถือ ลิฟท์ รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน รถยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ที่มีศักยภาพสูงขึ้น ฯลฯ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ซึ่งแต่ละอย่างแม้จะมีวิธีการใช้ หรือจะเรียกว่า “มารยาท” ที่พึงปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักก็คือ ต้องถูกกาละเทศะ พอเหมาะพอควร และไม่ก่อความเดือนร้อน รำคาญใจแก่ผู้อื่น ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำเสนอแนวทางในการปฏิบัติบางเรื่องพอสังเขป ดังนี้

การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ให้ความสะดวกเป็นอย่างมาก เพราะพกพาติดตัวไปได้ทุกแห่งทุกที่ทั่วโลก ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือควรตระหนัก ข้อแรกคือ สถานที่และช่วงเวลาที่ใช้โทรศัพท์ว่า ขณะนั้นตนอยู่ที่ใด และกำลังทำอะไร เช่น อยู่ในห้องประชุม อยู่ในระหว่างการเสนอขายสินค้า กำลังข้ามถนน อยู่บนรถเมล์ กำลังดูหนังชมคอนเสิร์ต ฯลฯ สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดให้เราทราบว่าควรปฏิบัติเช่นไรจึงเหมาะสม อาทิ หากเราไปดูหนังหรือชมคอนเสิร์ต ซึ่งแน่นอนว่า ถือเป็นช่วงของการพักผ่อน เราควรปิดมือถือเสีย ไม่ควรปล่อยให้มีเสียงดังขึ้นมารบกวนผู้ชมอื่นๆ และไม่ควรโทร.ออกไปหาใครในระหว่างชมการแสดง เช่นเดียวกับในห้องประชุม โดยเฉพาะการประชุมนัดสำคัญต่างๆควรปิดสัญญาณไปเลย หากจำเป็นจริงๆควรเปลี่ยนจากระบบเสียงเป็นระบบสั่นแทน และหากมีโทรศัพท์เรียกเข้ามา ก็ควรจะกล่าวคำ”ขอโทษ” แล้วออกมาพูดนอกห้องเพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อประธานและให้เกียรติ กับการประชุมนั้นๆ หากเป็นโทรศัพท์ของประธานเอง ก็ควรจะปิดหรือให้เลขานุการรับแทน แต่โดยแท้จริงแล้ว ประธานในที่ประชุมไม่ควรรับหรือโทร.ออกในระหว่างการประชุม ยกเว้นเรื่องด่วนหรือสำคัญจริงๆ ในห้องเรียน ห้องบรรยาย หรือห้องประชุมสัมมนาก็เช่นกัน นักเรียน นักศึกษา ผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่ควรใช้โทรศัพท์ระหว่างครูผู้สอน หรือผู้บรรยายกำลังพูดอยู่ เพราะนอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังรบกวนผู้อื่นและทำให้เราเสียโอกาสในการฟังด้วย หรือหากเรากำลังนำเสนอขายสินค้าใดๆกับลูกค้าอยู่ ก็ควรปิดมือถือชั่วคราว เพราะหากปล่อยให้ดังขึ้นมารบกวน หรือขัดจังหวะระหว่างการพูด ลูกค้าอาจจะเสียความรู้สึก คิดว่าเราไม่ให้เกียรติ ทำให้เราเสียโอกาสที่ดีไป เป็นต้น

นอกจากนี้ หากอยู่ระหว่างสภาวะที่ไม่พร้อม เช่น กำลังขับรถ ข้ามถนน กำลังเดินทาง หรืออยู่ระหว่างขึ้นรถ ลงเรือหรือพาหนะอื่นใด รวมถึงการเข้าห้องน้ำ ก็ควรอดใจไม่ใช้โทรศัพท์ชั่วคราว หรือหากมีโทรศัพท์เข้ามา ก็ควรแจ้งว่าจะโทรกลับเมื่อพร้อม ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงดังกล่าวหากเราใช้โทรศัพท์จะทำให้เราขาดความระมัดระวัง ไม่มีสมาธิและก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ตัวและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นมา ร่วมรับเคราะห์กับเราได้ง่าย ข้อต่อไปที่ควรคำนึงในการใช้มือถือคือ น้ำเสียงและท่าทาง โดยทั่วไปไม่ว่าจะรับโทรศัพท์หรือโทร.ออกไปหาผู้ใด ควรใช้น้ำเสียงสุภาพ นุ่มนวล ไม่ดังหรือค่อยเกินไป และไม่ออกท่าออกทางจนเกินเหตุ โดยเฉพาะหากไม่อยู่ในที่รโหฐานหรือที่ส่วนตัว โดยแท้จริงแล้ว เมื่อใดก็ตามที่อยากโทรศัพท์หรือมีโทรศัพท์เข้ามา ควรหาที่หรือมุมที่เหมาะสม แล้วไปนั่งหรือยืนพูดคุยให้เสร็จธุระ แล้วจึงเดินไปทำภารกิจอื่นต่อ จะแลดูเหมาะสมและไม่ก่อความรำคาญให้ใครจะดีกว่า เช่น บางคนชอบโทรศัพท์บนรถโดยสาร และพูดคุยนัดหมายเสียงดัง จนหนวกหูผู้อื่น หรือคุยเรื่องส่วนตัวที่คนอื่นเขาไม่อยากจะรับรู้ แต่ก็ต้องได้ยินได้ฟังไปด้วย ดีไม่ดีอาจเป็นโอกาสให้คนร้ายที่ได้ยิน ติดตามไปดักทำมิดีมิร้ายต่อเราได้ จึงควรระมัดระวัง รวมทั้งเนื้อหาที่พูดจากันด้วย อีกเรื่องที่สำคัญคือ ไม่ควรให้เบอร์มือถือของเจ้านาย เพื่อนหรือญาติมิตรแก่ผู้อื่น หากเจ้าตัวไม่ได้อนุญาต รวมทั้งไม่ควรโทร.เข้ามือถือของผู้ใด ถ้ามิใช่เพื่อนหรือคนที่เรารู้จัก โดยเฉพาะการโทร.ไปรบกวนหรือขายสินค้าต่างๆ เพราะจะทำให้ผู้รับโกรธ และมักเป็นผลลบมากกว่าดี ผู้รับจะรู้สึกว่าถูกบุกรุกความเป็นส่วนตัวของเขา

อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่เราจ่ายเงินเอง ก็ไม่ควรคุยนานจนเกินไป เพราะนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว (ถึงจะมีโปรโมชั่นต่างๆมากมายก็ตาม) ก็อาจจะทำให้ผู้ที่มีเรื่องด่วนหรือฉุกเฉินโทรมาหาเราไม่ได้ จนก่อให้เกิดกรณีเศร้าเสียใจภายหลัง และคลื่นโทรศัพท์มือถือที่มีแรงส่งสูงก็ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต ได้
มารยาทในการใช้รถและเรือโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ร้อน รถปรับอากาศ รถลอยฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินหรือเรือโดยสารต่างๆ ส่วนใหญ่เมื่อรถ/ เรือแล่นมาเทียบถึงป้าย ผู้คนที่รออยู่มักจะวิ่งกรูกันไปออกันอยู่หน้าประตูทางเข้า หรือทางลงเรือ ทั้งที่คนในรถในเรือยังออกไม่หมด ทำให้เกิดความชุลมุน ล่าช้า หรือเกิดกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันขึ้น ดังนั้น ในระหว่างการรอโดยสารเรือและรถเหล่านี้ นอกจากเราไม่ควรพูดคุยเสียงดัง ตะโกนโหวกเหวก พูดจาหยาบคาย หรือเล่นกันจนเป็นจุดสนใจและรบกวนผู้โดยสารอื่นแล้ว เมือเรือหรือรถแล่นเทียบท่าหรือสถานี เราต้องรอให้คนโดยสารขึ้นจากเรือหรือออกจากรถให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะก้าวลงหรือขึ้นไปหาที่นั่งหรือที่ยืนภายในต่อไป ทั้งนี้ การยืนรอคิวเพื่อรอลงเรือหรือขึ้นรถนี้ หากผู้โดยสารไม่แน่น เราก็อาจจะหาที่ยืนตามจุดต่างๆของป้ายหรือท่าได้ตามสบาย แต่หากเป็นสถานีหรือป้ายบางแห่งที่คนหนาแน่นอย่างรถบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าใต้ ดินแล้ว เขาจะมีเครื่องหมายให้เราเข้าแถวรอตามเส้น จะมีสองเส้นริม หมายถึงให้ผู้โดยสารเข้าแถวเตรียมเข้าประตูเป็นสองแถวต่อหนึ่งประตู ส่วนเส้นกลางให้เว้นไว้เพื่อให้ผู้โดยสารภายในเดินออก ซึ่งการจัดเช่นนี้ จะทำให้ไม่เดินชนกัน แต่จะสวนกันด้วยความเป็นระเบียบและรวดเร็ว หากไม่แย่งกันเข้าจนผิดคิวไปเสียก่อน
อนึ่ง เมื่อลงเรือหรือเข้าไปภายในรถแล้ว ถ้ามีที่นั่งก็ควรนั่งชิดใน เพื่อเหลือที่ว่างให้คนอื่นนั่งด้วย ไม่ควรนั่งอย่างวางก้ามหรือเอาของวางกันที่คนอื่น หากมีเด็กเล็กก็ควรให้นั่งตัก หากไม่มีที่นั่งก็ควรเดินชิดเข้าไปข้างใน เพื่อให้คนอื่นเข้ามาได้ด้วย ไม่ควรยืนเกะกะขวางทางขึ้นลง หรือยืนคาประตู ทำให้คนอื่นขึ้นลงลำบาก ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรพูดคุยในรถหรือเรือโดยสาร หรือหากมีเรื่องต้องพูด ก็ควรพูดกันเบาๆ เกรงใจผู้อื่น และเมื่ออยู่ในรถ/เรือ ไม่ว่านั่งหรือยืน ต้องระมัดระวังอย่าให้ร่ม กระเป๋า หรือสิ่งของของเราไปกระแทกผู้อื่น หรือเกะกะกีดขวางทางเดิน และก็ไม่ควรยืนชิดติดกายผู้ใดจนเกินควร อีกทั้งไม่ควรยื่นหน้าไปอ่านนสพ.หรือหนังสือของผู้อื่นหากเขาหยิบออกมาอ่าน และคนที่อ่านก็ต้องระวังอย่ากางนสพ.จนไปกินที่กินทางผู้อื่น นอกจากนี้ยังไม่ควรสวมเครื่องประดับของมีค่าในระหว่างเดินทาง เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ง่าย ควรถอดเก็บเสียก่อน หากมีเด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ขึ้นมา แล้วที่นั่งเต็ม ควรเสียสละที่นั่งของเราให้ โดยเฉพาะผู้ชายที่ถือว่าเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่หลายคนต้องเดินทางไกล รถติดทำให้ต้องเสียเวลามาก บางคนมีของแยะ เหนื่อยหรือสุขภาพไม่อำนวยจนไม่สะดวกจะลุกให้นั่ง ก็อาจจะปรับเป็นช่วยถือของให้ หรือหากเป็นเด็กเล็กก็อาจจะให้นั่งตักเราแทนก็ได้ และไม่ว่าใครก็ตามที่ช่วยเราถือของหรือลุกให้นั่ง เราต้องไม่ลืมขอบคุณเขาด้วย หรือบังเอิญจะลงป้ายถัดไป แล้วมีคนลุกให้นั่ง แต่เราไม่นั่งก็ต้องกล่าวขอบคุณและบอกว่าจะลงป้ายหน้า อย่าทำเพิกเฉยกับผู้ที่แสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเรา เพราะจะทำให้เขาเสียความรู้สึกและเก้อเขิน ก่อนลงควรกดกริ่งให้คนขับรู้และจอดป้าย หากนั่งหรือยืนชิดใน ก็ให้ขยับเดินออกมาให้ใกล้ประตูทางออก และกล่าวขอโทษต่อผู้ที่เราเบียดถูกด้วย และไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงชนิดใดขึ้นรถประจำทาง

มารยาทในการใช้ลิฟท์ ตามธรรมดา หากคนรอลิฟท์ไม่มาก ก็มักยืนกันตามสบายคล้ายกับการรอรถโดยสาร แต่หากมีคนรอขึ้นลิฟท์มาก ควรเข้าแถวตามลำดับก่อนหลังและแยกเป็นสองแถวสองข้างประตู โดยเว้นช่องทางตรงกลางไว้ เพื่อให้คนในลิฟท์ได้ออกมาให้หมดก่อน จึงค่อยเดินเข้าไป และควรชิดในให้คนอื่นเข้ามาได้บ้าง ไม่ควรยืนขวางทางออกเพราะคิดว่าจะออกจะลิฟท์ได้เร็วและง่ายกว่าผู้อื่น โดยปกติชายต้องให้หญิงเข้าและออกจากลิฟท์ก่อน ยกเว้นคนแน่นและไม่สะดวก ขณะอยู่ในลิฟท์หากเจอญาติหรือเพื่อนฝูงให้ทักกันแค่คำสองคำก็พอ ออกจากลิฟท์จึงค่อยมาสนทนากัน ถ้าจำเป็นต้องพูดคุยกันก็ให้พูดเสียงค่อยๆไม่รบกวนผู้อื่น ในกาลเทศะเช่นนี้ ไม่ควรพูดเรื่องส่วนตัว หรือวิพากวิจารณ์ผู้อื่น ไม่ควรสูบบุหรี่หรือนำผลไม้ที่มีกลิ่นแรงเข้ามาในลิฟท์ หรือหากจำเป็นจริงๆควรรอให้ลิฟท์ว่างเสียก่อน หากมีเจ้าหน้าที่หรือใครมาอำนวยความสะดวกในการใช้ลิฟท์ ควรกล่าวขอบคุณขณะออกจากลิฟท์ ในกรณีอยู่ห่าง ไม่สามารถกดชั้นที่จะออกได้ ควรบอกคนที่อยู่ใกล้ให้กดให้ ไม่ควรเอื้อมมือข้ามไหล่ข้ามตัวคนไปกดลิฟท์เอง และเมื่อเขากดให้แล้ว ก็อย่าลืมขอบคุณเขา หากลิฟท์เต็ม อย่าฝืนเบียดหรือใช้ เพราะลิฟท์อาจค้างและเกิดอันตราย ควรรอรอบต่อไป

มารยาทในขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ก่อนก้าวไปเหยียบบนบันไดเลื่อนไม่ว่าขึ้นหรือลง ควรมองให้ดีก่อน เพื่อไม่ให้ก้าวพลาด และไม่ว่าจะขึ้นหรือลงควรชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันได ส่วนใหญ่จะชิดด้านขวามือของเราเอง โดยเว้นช่องตรงกลางไว้ เพื่อคนที่รีบจะได้วิ่งแซงขึ้น-ลงได้โดยสะดวก ไม่ควรจะจับมือกันหรือกาง/แกว่งแขนจนขวางทางคนอื่น ยกเว้นต้องจูงเด็กหรือคนชรา หากมีเด็กเล็กควรอุ้ม อย่าปล่อยให้เด็กขึ้น-ลงเองหรือปล่อยเด็กไปวิ่งเล่นขึ้นลงบันไดเลื่อนโดยไม่ ดูแล เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้
ทั้งหมดที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น อันที่จริง บางอย่างก็เป็นเทคโนโลยีที่มีใช้กันมานานแล้ว หรือบางอย่างแม้จะเป็นของใหม่อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่เรื่องมารยาทในการใช้บริการสิ่งเหล่านี้ นับเป็นเรื่องสากลที่เราควรรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นที่ดูแคลนของผู้อื่นว่ามารยาทก้าวไม่ทันเทคโนโลยีซึ่งเป็นเพียง วัตถุที่มารับใช้เราให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นเท่านั้น
........................................


อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2547&MM=12&DD=14

งามอย่างไทย ไหว้อย่างไทย

 
งามอย่างไทย ไหว้อย่างไทย

กราบสวัสดีพ่อแม่พี่น้อง ที่เคารพรักทุกท่านนะครับ วันนี้ชายน้อยขอนำพาพ่อแม่พี่น้องมารู้จักกับ กิริยามารยาทไทย งามอย่างไทย ไหว้อย่างไทยกันนะครับ อ๊าาาาาากกกกกก แอ๊บแบ๊วเป็นที่สุด รับตัวเองไม่ได้ ๕๕๕๕

ข้อความขั้นต้นก็เป็นการเกริ่นนำเข้าบทความที่จะกล่าวถึงในวันนี้แหละ ครับ ซึ่งไม่ได้เป็นคนเขียนเอง (อีกแล้ว - แต่ก็มีเสริมในส่วนที่ขาดล่ะนะ) แต่นำมาจากปฏิทิน ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ของ
ธนาคารนครหลวงไทย ครับ เห็นว่ามีประโยชน์ดีเลยนำมาเผยแพร่ต่อครับ

การไหว้ ถือ ว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย ที่ตั้งแต่เรียนรู้ที่จะพูดได้ และเริ่มแกว่งไม้แกว่งมือได้ พ่อแม่ทุกคนก็จะต้องสอนลูกให้ยกมือไหว้ และกล่าวคำว่า สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ กันก่อนเลย และก็มักจะหลอกล่อว่าให้ไหว้สวย ๆ สิคะ อะไรประมาณนี้ใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้ว เรารู้หรือเปล่า ว่าการไหว้แบบไทย ๆ ที่ว่าสวย ๆ นั้น เค้าต้องทำอย่างไร

สมัยผมเป็นเด็ก พอเข้าชั้นประถม ก็จะมีวิชาจริยธรรม ที่จะสอนการไหว้ที่ถูกต้อง ถูกธรรมเนียม พอขึ้นมัธยมก็มีการสอนกันอีกครั้ง เพื่อกันลืม จนจำไ้ด้ด้วยร่างกายว่า ไหว้พระ ไหว้ผู้ใหญ่ ไหว้คนอายุเท่ากัน และรับไหว้ ต้องทำอย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ยอมรับว่ายังไหว้ถูกอยู่ แต่มือแข็งครับ ไม่ค่อยยกมือไหว้ และก็ชอบพูดสั้น ๆ ว่า "หวัดดีครับ" กลายเป็นนิสัยที่ไม่งามไปเสียแล้ว ซึ่งก็พยายามไม่ให้เผลอเรออยู่ครับ

และเป็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างว่า เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยยกมือไหว้สวัสดี จริง ๆ นะ ถ้าเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาก่อน จะสวัสดีกันยากมาก ๆ ผมจะบอกเคล็ดลับอะไรให้นะครับ ถ้าอยากให้ผู้ใหญ่เอ็นดูล่ะก็ ต้องหัดมีสัมมาคารวะ มืออ่อน พูดจาไพเราะเข้าไว้ครับ ดีด้วยประการทั้งปวง สมัยผมจีบแฟน แล้วต้องเจอหน้าพ่อจอมเฮี๊ยบเนี่ย ยกมือไหว้ในระยะ ๑๐ ม. ก่อนเลยครับ ผมเรียกมันว่าเป็น
Key to success เลยนะครับ

เอาล่ะครับ ฝอยน้ำลายท่วมทุ่มไปเยอะแล้ว มาเข้าเรื่องวิธีการไหว้ที่ถูกวิธีกันดีกว่า

การไหว้
การประนมมือไหว้นั้น ฝ่ามือทั้งสองข้างจะต้องทาบทับกัน ปลายนิ้วทาบสนิทกัน ทำหลังมือให้โป่งออกเล็กน้อย ไม่้ต้องมากเป็นดอกบัวตูมและไม่แบนราบเป็นใบไม้นะครับ และในการยกมือขึ้นมาไว้ จะมีด้วยกัน ๓ ระดับ ขึ้นอยู่กับว่า ไหว้ใคร คือ

๑. ไหว้พระ ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะ จรดหัวแม่มือที่กลางหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้น ค้อมหลังพอประมาณ

 


 
๒. ไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส เช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว
 
 

 
๓. ไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ค้อมหลังพอประมาณ

 

 
การกราบพระ แบบ เบญจางคประดิษฐ์

 
การกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการกราบที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุด ต่อบุคคลที่ควรเคารพนับถือสูงสุด ซึ่งก็คือพระนั่นเอง เบญจางคประดิษฐ์ แปลว่า ตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ห้า โดย เบญจ ซึ่งแปลว่า ๕ นั้น หมายถึง อวัยวะทั้ง ๕ อันได้แก่ หน้าผาก มือทั้งสอง และเข่าทั้งสอง โดยอวัยวะที่ว่านั้น เวลากราบจะต้องจรดลงให้ติดกับพื้น ซึ่งท่านี้จะปฏิบัติแตกต่างกันใน หญิง และ ชาย

สำหรับชายนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้

ท่าเตรียม ท่าเตรียมของชายนั้น จะเรียกว่า ท่าเทพบุตร

ท่าเทพบุตร นั่ง คุกเข่าปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้า ไม่นั่งบนเท้า แบบนั่งญี่ปุ่นนะครับ มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ส้นเท้าไม่แบะออก
 
จังหวะที่ ๑: อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก
 
จังหวะที่ ๒ : วันทา ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง
 
จังหวะที่ ๓ : อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างต่อเข่า ขนานไปกับพื้น หลังไม่โก่ง หรือ ก้นไม่โด่งจนเกินงาม

 
การกราบจะกราบ ๓ ครั้ง เมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง


 
สำหรับหญิงนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้

 
ท่าเตรียม ท่าเตรียมของหญิงนั้น จะเรียกว่า ท่าเทพธิดา

 
ท่าเทพธิดา นั่งคุกเข่าปลายเท้าราบ นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ปลายเท้าไม่แบะออก

 
จังหวะที่ ๑: อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก
 
จังหวะที่ ๒ : วันทา ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง

 
จังหวะที่ ๓ : อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ห่างกันเล็กน้อย พอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย

 
การกราบจะกราบ ๓ ครั้ง เมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง
 

 

 
การไหว้พระ

 
ประนมมือ นิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดส่วนบนของหน้าผาก

 
ชาย ยืนตรง ค้อมตัวลงต่ำ พร้อมกับประนมมือขึ้นไหว้

 
หญิง ยืนตรง ย่อเข่าลงให้ต่ำ โดยถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับประนมมือขึ้นไหว้

 

 
การประเคนของแด่พระสงฆ์

 
ชาย ใช้ สองมือถือของเดินเข่า เข้าไปในระยะหัตถบาส (ระยะที่มือพระท่านเอื้อมมือถึง) ยกของขึ้นประเคนในลักษณะมือต่อมือได้เลย (คือยกให้ท่านรับได้เลย) เมื่อประเคนเสร็จ จะไหว้หรือกราบก็ได้ แล้วแต่กาลเทศะ เสร็จแล้วถอยออกโดยวิธีเดินเข่า (ถอยออกนะครับ ไม่ใช่กันหลังขวับ แล้วเปิดแน่บ)

 

 
หญิง ใช้ สองมือถือของเดินเข่า เข้าไปในเช่นเดียวกับผู้ชาย ยกของขึ้นประเคนโดยวางบนผ้าที่พระสงฆ์ทอดออกมา เมื่อประเคนเสร็จ ปฏิบัติเช่นเดียวกับชาย
 
ที่อยากจะเตือนหน่อยนึง คือ เวลาเข้าวัดเข้าวา ก็แต่งกายให้มิชิดหน่อยนะครับ
 

 

 
 

 
 
การถวายความเคารพแบบสากล
 
ชาย ใช้ วิธีถวายคำนับ โดยค้อมลำตัวตั้งแต่ศีรษะถึงเอวลงให้ต่ำพอสมควร (ไม่ต้องก้มลงไปจนมองเห็นเข็มขัดตัวเองนะครับ แบบนั้นไม่สง่า) เสร็จแล้วยืนตัวตรงลักษณะเดิม

 
หญิง ใช้ วิธีถวายความเคารพด้วยการถอนสายบัว แบบสากลนิยม ยืนตัวตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน วาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรง ปล่อยแขนตรงแนบลำตัว สายตาทอดลง เสร็จแล้วยืนตัวตรงลักษณะเดิม
 
 

 
การหมอบกราบ

ใช้แสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ลงมาถึงพระ บรมวงศ์ในโอกาสเข้าเผ้าฯ ทั้งชายและหญิง ให้นั่งพับเีพียบเก็บปลายเท้า แล้วหมอบลงให้ศอกทั้งสองข้างถึงพื้น คร่อมเข่าี่ที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประสาน เรียกว่า หมอบเฝ้า เวลากราบให้ประนมมือ ก้มศีรษะลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือ ถ้าท่านทรงพระราชทานสิ่งของให้ ให้ยกมือขวาขึ้นเอางาน ในลักษณะเดียวกับการรับปริญญาบัตร คือยกมือขวาขึ้น ฝ่ามือตั้งฉากกับพื้น กระดกข้อมือขึ้นเล็กน้อย แล้วตวัดมือมาอยู่ในท่าเตรียมรับสิ่งของ โดยทำมือเป็นอุ้งเล็กน้อย เมื่อรบสิ่งของมาแล้ว ให้ประคองสิ่งของนั้นไว้ แล้วกราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลับมานั่งในท่าหมอบเฝ้า แล้วทรงตัวนั่งในท่าพับเพียบ หรือคลานถอยหลังออกไปจนพ้นที่ประทับ
 

 
การทูลเกล้าฯถวายของ

ของที่จะทูลเกล้าฯถวายนั้น ต้องเป็นของเบา และมีพานรองรับ โดยผู้ถวายใช้มือทั้งสองจับคอพาน
ในกรณีของผู้ชาย ให้ถือพานถวายคำนับ เดินเข้าไปห่างจากที่ีประทับพอควร ลดพานลง ถวายคำนับ ย่อตัวก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เข่าซ้ายจรดพื้น แล้วยกพานขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เมื่อพระองค์ทรงหยิบของออกจากพานแล้ว ให้ลุกขึ้น ดึงเท้าขวากลับมาชิดเท้าซ้าย ถวายคำนับ แล้วเดินถอยหลังจนพ้นที่ประทับ
 
 
 
 
สำหรับฝ่ายหญิง ให้ถือพานเช่นเดียวกัน แต่ในการถวายความเคารพ ให้ใช้การถอนสายบัวแบบสากลนิยม นอกนั้นปฏิบัติเหมือนฝ่ายชายทั้งหมด

 

 
การกราบผู้ใหญ่
 
ใช้กราบผู้อาวุโส หรือผู้มีพระคุณ ทั้งหญิงและชาย ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า ทอดมือทั้งสองลงพร้อมกัน ให้แขนค่อมเข่้าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนม ค้อมตัวลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือ กราบเพียงครั้งเดียว โดยไม่แบมือ เมื่อกราบเสร็จ ประสานมือดันตัวลุกขึ้นนั่งในท่าพับเพียบ

 
 
การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส
 
ประนมมือไหว้ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายจมูก ปลายนิ้วชี้จรดหว่างคิ้ว
 
ชาย ยืนตรง ต้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้

 
หญิง ยืนตรง ถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้า่งหลัง ย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้

 
 
 
การไหว้บุคคลทั่วไป
 
ประนมมือไหว้ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก
 
ชาย ยืนตรง ต้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้

 
หญิง ยืนตรง ถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้า่งหลัง ย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมประนมมือขึ้นไหว้

 
 
 
การไหว้ผู้ที่เสมอกัน

 
ยืนตัวตรง ประนมมือ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก ทั้งชายและหญิง การไหว้จะไหว้พร้อม ๆ กัน
 

 

 
สำหรับมารยาทในการไหว้งาม ๆ ก็จบลงเพียงเท่านี้ มีแถมเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะได้ใช้บ้างเล็กน้อย ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ จะใส่ใจกับการไหว้กันมากขึ้นนะครับ ไหว้ให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น งามแท้แน่นอนครับ แต่ไหว้ผิด ๆ นี่ไม่งามจริง ๆ นะครับ เคยลองสังเกตกันดูหรือเปล่า

 
ความจริงแล้ว ที่ผมเขียนเรื่องนี้ ก็สืบเนื่องมาจากตอนที่ไปรับทุนที่มหาวิทยาลัยแหละครับ ผมไม่เห็นมีนักศึกษาคนใดเลยที่ไหว้ได้อย่างถูกต้องงดงาม ดู ๆ ไป ออกอาการเหมือนไก่จิกข้าวสาร คือผงกหัวหงึก ๆ ย่อตัวแบบเร็ว ๆ เหมือนเพลี๊ยกระโดด ไม่รู้จะรีบไปไหน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เด็กสาวที่ผมพูดถึงนี้ เธอได้ทุนวัฒนธรรมไทย อะไรสักอย่างนี่แหละครับ โอ้วพระเจ้า ถ้าผมเป็นอธิการบดี ผมสั่งงดทุนเดี๋ยวนั้น จนกว่าเธอจะไหว้ได้ถูกต้องเลยล่ะ

   ทางเว็บไซต์ขอขอบพระคุณแหล่งที่มา เจ้าของบทความ และขออนุญาตนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์แห่งนี้ : http://zedth.exteen.com/20071028/entry

 
มารยาท.com © 2012 | Designed by GURU