มารยาทที่ควรก้าวไปพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

Monday, September 24, 2012

 

  มารยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาละเทศะ เป็นกรอบหรือแบบแผนซึ่งควรปฏิบัติหรือละเว้น ถือเป็นเรื่องที่มีอยู่ในคนทุกชาติ ทุกภาษา โดยต่างก็จะมีการสั่งสอนหรือถ่ายทอดวัฒนธรรมทางมารยาทของตนแตกต่างกันออกไป ตามที่เห็นว่าเหมาะสม อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก จนทำให้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก และโทรคมนาคมต่างๆที่ถือว่าเป็นของทันสมัย เช่น โทรศัพท์มือถือ ลิฟท์ รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน รถยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ที่มีศักยภาพสูงขึ้น ฯลฯ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ซึ่งแต่ละอย่างแม้จะมีวิธีการใช้ หรือจะเรียกว่า “มารยาท” ที่พึงปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักก็คือ ต้องถูกกาละเทศะ พอเหมาะพอควร และไม่ก่อความเดือนร้อน รำคาญใจแก่ผู้อื่น ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำเสนอแนวทางในการปฏิบัติบางเรื่องพอสังเขป ดังนี้

การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ให้ความสะดวกเป็นอย่างมาก เพราะพกพาติดตัวไปได้ทุกแห่งทุกที่ทั่วโลก ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือควรตระหนัก ข้อแรกคือ สถานที่และช่วงเวลาที่ใช้โทรศัพท์ว่า ขณะนั้นตนอยู่ที่ใด และกำลังทำอะไร เช่น อยู่ในห้องประชุม อยู่ในระหว่างการเสนอขายสินค้า กำลังข้ามถนน อยู่บนรถเมล์ กำลังดูหนังชมคอนเสิร์ต ฯลฯ สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดให้เราทราบว่าควรปฏิบัติเช่นไรจึงเหมาะสม อาทิ หากเราไปดูหนังหรือชมคอนเสิร์ต ซึ่งแน่นอนว่า ถือเป็นช่วงของการพักผ่อน เราควรปิดมือถือเสีย ไม่ควรปล่อยให้มีเสียงดังขึ้นมารบกวนผู้ชมอื่นๆ และไม่ควรโทร.ออกไปหาใครในระหว่างชมการแสดง เช่นเดียวกับในห้องประชุม โดยเฉพาะการประชุมนัดสำคัญต่างๆควรปิดสัญญาณไปเลย หากจำเป็นจริงๆควรเปลี่ยนจากระบบเสียงเป็นระบบสั่นแทน และหากมีโทรศัพท์เรียกเข้ามา ก็ควรจะกล่าวคำ”ขอโทษ” แล้วออกมาพูดนอกห้องเพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อประธานและให้เกียรติ กับการประชุมนั้นๆ หากเป็นโทรศัพท์ของประธานเอง ก็ควรจะปิดหรือให้เลขานุการรับแทน แต่โดยแท้จริงแล้ว ประธานในที่ประชุมไม่ควรรับหรือโทร.ออกในระหว่างการประชุม ยกเว้นเรื่องด่วนหรือสำคัญจริงๆ ในห้องเรียน ห้องบรรยาย หรือห้องประชุมสัมมนาก็เช่นกัน นักเรียน นักศึกษา ผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่ควรใช้โทรศัพท์ระหว่างครูผู้สอน หรือผู้บรรยายกำลังพูดอยู่ เพราะนอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังรบกวนผู้อื่นและทำให้เราเสียโอกาสในการฟังด้วย หรือหากเรากำลังนำเสนอขายสินค้าใดๆกับลูกค้าอยู่ ก็ควรปิดมือถือชั่วคราว เพราะหากปล่อยให้ดังขึ้นมารบกวน หรือขัดจังหวะระหว่างการพูด ลูกค้าอาจจะเสียความรู้สึก คิดว่าเราไม่ให้เกียรติ ทำให้เราเสียโอกาสที่ดีไป เป็นต้น

นอกจากนี้ หากอยู่ระหว่างสภาวะที่ไม่พร้อม เช่น กำลังขับรถ ข้ามถนน กำลังเดินทาง หรืออยู่ระหว่างขึ้นรถ ลงเรือหรือพาหนะอื่นใด รวมถึงการเข้าห้องน้ำ ก็ควรอดใจไม่ใช้โทรศัพท์ชั่วคราว หรือหากมีโทรศัพท์เข้ามา ก็ควรแจ้งว่าจะโทรกลับเมื่อพร้อม ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงดังกล่าวหากเราใช้โทรศัพท์จะทำให้เราขาดความระมัดระวัง ไม่มีสมาธิและก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ตัวและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นมา ร่วมรับเคราะห์กับเราได้ง่าย ข้อต่อไปที่ควรคำนึงในการใช้มือถือคือ น้ำเสียงและท่าทาง โดยทั่วไปไม่ว่าจะรับโทรศัพท์หรือโทร.ออกไปหาผู้ใด ควรใช้น้ำเสียงสุภาพ นุ่มนวล ไม่ดังหรือค่อยเกินไป และไม่ออกท่าออกทางจนเกินเหตุ โดยเฉพาะหากไม่อยู่ในที่รโหฐานหรือที่ส่วนตัว โดยแท้จริงแล้ว เมื่อใดก็ตามที่อยากโทรศัพท์หรือมีโทรศัพท์เข้ามา ควรหาที่หรือมุมที่เหมาะสม แล้วไปนั่งหรือยืนพูดคุยให้เสร็จธุระ แล้วจึงเดินไปทำภารกิจอื่นต่อ จะแลดูเหมาะสมและไม่ก่อความรำคาญให้ใครจะดีกว่า เช่น บางคนชอบโทรศัพท์บนรถโดยสาร และพูดคุยนัดหมายเสียงดัง จนหนวกหูผู้อื่น หรือคุยเรื่องส่วนตัวที่คนอื่นเขาไม่อยากจะรับรู้ แต่ก็ต้องได้ยินได้ฟังไปด้วย ดีไม่ดีอาจเป็นโอกาสให้คนร้ายที่ได้ยิน ติดตามไปดักทำมิดีมิร้ายต่อเราได้ จึงควรระมัดระวัง รวมทั้งเนื้อหาที่พูดจากันด้วย อีกเรื่องที่สำคัญคือ ไม่ควรให้เบอร์มือถือของเจ้านาย เพื่อนหรือญาติมิตรแก่ผู้อื่น หากเจ้าตัวไม่ได้อนุญาต รวมทั้งไม่ควรโทร.เข้ามือถือของผู้ใด ถ้ามิใช่เพื่อนหรือคนที่เรารู้จัก โดยเฉพาะการโทร.ไปรบกวนหรือขายสินค้าต่างๆ เพราะจะทำให้ผู้รับโกรธ และมักเป็นผลลบมากกว่าดี ผู้รับจะรู้สึกว่าถูกบุกรุกความเป็นส่วนตัวของเขา

อนึ่ง แม้ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่เราจ่ายเงินเอง ก็ไม่ควรคุยนานจนเกินไป เพราะนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว (ถึงจะมีโปรโมชั่นต่างๆมากมายก็ตาม) ก็อาจจะทำให้ผู้ที่มีเรื่องด่วนหรือฉุกเฉินโทรมาหาเราไม่ได้ จนก่อให้เกิดกรณีเศร้าเสียใจภายหลัง และคลื่นโทรศัพท์มือถือที่มีแรงส่งสูงก็ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต ได้
มารยาทในการใช้รถและเรือโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ร้อน รถปรับอากาศ รถลอยฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินหรือเรือโดยสารต่างๆ ส่วนใหญ่เมื่อรถ/ เรือแล่นมาเทียบถึงป้าย ผู้คนที่รออยู่มักจะวิ่งกรูกันไปออกันอยู่หน้าประตูทางเข้า หรือทางลงเรือ ทั้งที่คนในรถในเรือยังออกไม่หมด ทำให้เกิดความชุลมุน ล่าช้า หรือเกิดกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันขึ้น ดังนั้น ในระหว่างการรอโดยสารเรือและรถเหล่านี้ นอกจากเราไม่ควรพูดคุยเสียงดัง ตะโกนโหวกเหวก พูดจาหยาบคาย หรือเล่นกันจนเป็นจุดสนใจและรบกวนผู้โดยสารอื่นแล้ว เมือเรือหรือรถแล่นเทียบท่าหรือสถานี เราต้องรอให้คนโดยสารขึ้นจากเรือหรือออกจากรถให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะก้าวลงหรือขึ้นไปหาที่นั่งหรือที่ยืนภายในต่อไป ทั้งนี้ การยืนรอคิวเพื่อรอลงเรือหรือขึ้นรถนี้ หากผู้โดยสารไม่แน่น เราก็อาจจะหาที่ยืนตามจุดต่างๆของป้ายหรือท่าได้ตามสบาย แต่หากเป็นสถานีหรือป้ายบางแห่งที่คนหนาแน่นอย่างรถบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าใต้ ดินแล้ว เขาจะมีเครื่องหมายให้เราเข้าแถวรอตามเส้น จะมีสองเส้นริม หมายถึงให้ผู้โดยสารเข้าแถวเตรียมเข้าประตูเป็นสองแถวต่อหนึ่งประตู ส่วนเส้นกลางให้เว้นไว้เพื่อให้ผู้โดยสารภายในเดินออก ซึ่งการจัดเช่นนี้ จะทำให้ไม่เดินชนกัน แต่จะสวนกันด้วยความเป็นระเบียบและรวดเร็ว หากไม่แย่งกันเข้าจนผิดคิวไปเสียก่อน
อนึ่ง เมื่อลงเรือหรือเข้าไปภายในรถแล้ว ถ้ามีที่นั่งก็ควรนั่งชิดใน เพื่อเหลือที่ว่างให้คนอื่นนั่งด้วย ไม่ควรนั่งอย่างวางก้ามหรือเอาของวางกันที่คนอื่น หากมีเด็กเล็กก็ควรให้นั่งตัก หากไม่มีที่นั่งก็ควรเดินชิดเข้าไปข้างใน เพื่อให้คนอื่นเข้ามาได้ด้วย ไม่ควรยืนเกะกะขวางทางขึ้นลง หรือยืนคาประตู ทำให้คนอื่นขึ้นลงลำบาก ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรพูดคุยในรถหรือเรือโดยสาร หรือหากมีเรื่องต้องพูด ก็ควรพูดกันเบาๆ เกรงใจผู้อื่น และเมื่ออยู่ในรถ/เรือ ไม่ว่านั่งหรือยืน ต้องระมัดระวังอย่าให้ร่ม กระเป๋า หรือสิ่งของของเราไปกระแทกผู้อื่น หรือเกะกะกีดขวางทางเดิน และก็ไม่ควรยืนชิดติดกายผู้ใดจนเกินควร อีกทั้งไม่ควรยื่นหน้าไปอ่านนสพ.หรือหนังสือของผู้อื่นหากเขาหยิบออกมาอ่าน และคนที่อ่านก็ต้องระวังอย่ากางนสพ.จนไปกินที่กินทางผู้อื่น นอกจากนี้ยังไม่ควรสวมเครื่องประดับของมีค่าในระหว่างเดินทาง เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ง่าย ควรถอดเก็บเสียก่อน หากมีเด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ขึ้นมา แล้วที่นั่งเต็ม ควรเสียสละที่นั่งของเราให้ โดยเฉพาะผู้ชายที่ถือว่าเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่หลายคนต้องเดินทางไกล รถติดทำให้ต้องเสียเวลามาก บางคนมีของแยะ เหนื่อยหรือสุขภาพไม่อำนวยจนไม่สะดวกจะลุกให้นั่ง ก็อาจจะปรับเป็นช่วยถือของให้ หรือหากเป็นเด็กเล็กก็อาจจะให้นั่งตักเราแทนก็ได้ และไม่ว่าใครก็ตามที่ช่วยเราถือของหรือลุกให้นั่ง เราต้องไม่ลืมขอบคุณเขาด้วย หรือบังเอิญจะลงป้ายถัดไป แล้วมีคนลุกให้นั่ง แต่เราไม่นั่งก็ต้องกล่าวขอบคุณและบอกว่าจะลงป้ายหน้า อย่าทำเพิกเฉยกับผู้ที่แสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเรา เพราะจะทำให้เขาเสียความรู้สึกและเก้อเขิน ก่อนลงควรกดกริ่งให้คนขับรู้และจอดป้าย หากนั่งหรือยืนชิดใน ก็ให้ขยับเดินออกมาให้ใกล้ประตูทางออก และกล่าวขอโทษต่อผู้ที่เราเบียดถูกด้วย และไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงชนิดใดขึ้นรถประจำทาง

มารยาทในการใช้ลิฟท์ ตามธรรมดา หากคนรอลิฟท์ไม่มาก ก็มักยืนกันตามสบายคล้ายกับการรอรถโดยสาร แต่หากมีคนรอขึ้นลิฟท์มาก ควรเข้าแถวตามลำดับก่อนหลังและแยกเป็นสองแถวสองข้างประตู โดยเว้นช่องทางตรงกลางไว้ เพื่อให้คนในลิฟท์ได้ออกมาให้หมดก่อน จึงค่อยเดินเข้าไป และควรชิดในให้คนอื่นเข้ามาได้บ้าง ไม่ควรยืนขวางทางออกเพราะคิดว่าจะออกจะลิฟท์ได้เร็วและง่ายกว่าผู้อื่น โดยปกติชายต้องให้หญิงเข้าและออกจากลิฟท์ก่อน ยกเว้นคนแน่นและไม่สะดวก ขณะอยู่ในลิฟท์หากเจอญาติหรือเพื่อนฝูงให้ทักกันแค่คำสองคำก็พอ ออกจากลิฟท์จึงค่อยมาสนทนากัน ถ้าจำเป็นต้องพูดคุยกันก็ให้พูดเสียงค่อยๆไม่รบกวนผู้อื่น ในกาลเทศะเช่นนี้ ไม่ควรพูดเรื่องส่วนตัว หรือวิพากวิจารณ์ผู้อื่น ไม่ควรสูบบุหรี่หรือนำผลไม้ที่มีกลิ่นแรงเข้ามาในลิฟท์ หรือหากจำเป็นจริงๆควรรอให้ลิฟท์ว่างเสียก่อน หากมีเจ้าหน้าที่หรือใครมาอำนวยความสะดวกในการใช้ลิฟท์ ควรกล่าวขอบคุณขณะออกจากลิฟท์ ในกรณีอยู่ห่าง ไม่สามารถกดชั้นที่จะออกได้ ควรบอกคนที่อยู่ใกล้ให้กดให้ ไม่ควรเอื้อมมือข้ามไหล่ข้ามตัวคนไปกดลิฟท์เอง และเมื่อเขากดให้แล้ว ก็อย่าลืมขอบคุณเขา หากลิฟท์เต็ม อย่าฝืนเบียดหรือใช้ เพราะลิฟท์อาจค้างและเกิดอันตราย ควรรอรอบต่อไป

มารยาทในขึ้น-ลงบันไดเลื่อน ก่อนก้าวไปเหยียบบนบันไดเลื่อนไม่ว่าขึ้นหรือลง ควรมองให้ดีก่อน เพื่อไม่ให้ก้าวพลาด และไม่ว่าจะขึ้นหรือลงควรชิดด้านใดด้านหนึ่งของบันได ส่วนใหญ่จะชิดด้านขวามือของเราเอง โดยเว้นช่องตรงกลางไว้ เพื่อคนที่รีบจะได้วิ่งแซงขึ้น-ลงได้โดยสะดวก ไม่ควรจะจับมือกันหรือกาง/แกว่งแขนจนขวางทางคนอื่น ยกเว้นต้องจูงเด็กหรือคนชรา หากมีเด็กเล็กควรอุ้ม อย่าปล่อยให้เด็กขึ้น-ลงเองหรือปล่อยเด็กไปวิ่งเล่นขึ้นลงบันไดเลื่อนโดยไม่ ดูแล เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้
ทั้งหมดที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น อันที่จริง บางอย่างก็เป็นเทคโนโลยีที่มีใช้กันมานานแล้ว หรือบางอย่างแม้จะเป็นของใหม่อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่เรื่องมารยาทในการใช้บริการสิ่งเหล่านี้ นับเป็นเรื่องสากลที่เราควรรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นที่ดูแคลนของผู้อื่นว่ามารยาทก้าวไม่ทันเทคโนโลยีซึ่งเป็นเพียง วัตถุที่มารับใช้เราให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้นเท่านั้น
........................................


อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2547&MM=12&DD=14

0 comments:

Post a Comment

 
มารยาท.com © 2012 | Designed by GURU