มารยาทในการทำความเคารพพระมหากษัตริย์

Wednesday, September 26, 2012

มารยาทในการทำความเคารพพระมหากษัตริย์

          พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคน ประเทศชาติจะดำรงอยู่ก็เพราะมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจใน การต่อสู้กับอริราชศัตรู ในการรักษาเอกราชของประเทศ หรือในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ฯลฯ
          พระองค์มีธงมหาราชเป็นธงประจำตัวของพระองค์ เวลาพระองค์เสด็จไปไหนธงนั้นจะปักอยู่หน้ารถพระที่นั่ง และเพลงสรรเสริญพระบารมีเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนตัวพระองค์ ฉะนั้น คนไทยทุกคน ควรจะมีมารยาทในการทำความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ดังต่อไปนี้
๑. ยืนตรงทำความเคารพพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระโอรส พระธิดา หรือตัวแทนพระองค์ ชายถวายคำนับ หญิงถอนสายบัว
การถวายคำนับปฏิบัติดังนี้
         ๑) ถ้าแต่งเครื่องแบบและสวมหมวก ให้ยืนตรงแล้วกระทำวันทยาหัตถ์
         ๒) ถ้าไม่ได้สวมหมวก ให้ยืนตรงหันหน้าไปทางพระองค์ท่านแล้วถวายคำนับ
        การถวายคำนับให้ก้มศีรษะและส่วนไหล่ลงช้าๆ ต่ำพอควร กระทำครั้งเดียว แล้วยืนตรงอย่าผงกศีรษะ       เร็วเกินไป
หมายเหตุ  ถ้าสวมหมวกอื่นที่ไม่ใช่เครื่องแบบ คือ ไม่ได้แต่งเครื่องแบบแต่สวมหมวกต้องถอดหมวก โดยใช้มือขวาถอด หมวก สอดหมวกไว้ซอกแขนซ้ายแนบลำตัว แล้วยืนตรง หันไปทางพระองค์ท่านแล้วถวายคำนับ
การถอนสายบัวปฏิบัติดังนี้
         ๑) ยืนตรง เท้าชิด หันหน้าไปทางพระองค์ท่าน
         ๒) ชักขาข้างใดข้างหนึ่งไปทางหลัง โดยวาดปลายเท้าไป่ทางอีกด้านหนึ่งของขาที่ยืน ทำพร้อมกับย่อเข่าอีกข้างหนึ่งลงช้าๆ
         ๓) เมื่อจวนจะต่ำสุด ให้ยกมือทั้งสองขึ้นวางประสานกันบนหน้าขาซ้ายที่ย่อต่ำลง ให้ค่อนไปทางเข่า
         ๔) ก้มศีรษะต่ำลงเล็กน้อย แล้วเงยศีรษะขึ้นพร้อมกับชักขาข้างที่ไขว้กลับที่เดิม แล้วยืนและตั้งเข่าให้ตรง
๒. ยืนตรงทำความเคารพเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้ง ให้ยืนขึ้นอย่างสุภาพและระวังตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านหรือพระบรมฉายาลักษณ์ หรือองค์ประธานของเพลงเคารพ หรือยืนหันไปทางเสียงที่ได้ยิน ยืนตรงจนจบเพลง ถ้าเป็นการบรรเลงที่ปรากฎพระองค์ ต้องถวายความเคารพเมื่อเห็นพระองค์ครั้งหนึ่ง เมื่อจบเพลงให้ถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่งแล้วนั่ง หรือเคลื่อนที่ไปแล้วแต่กรณี
๓. ร้อยเพลงสรรเสริญพระบารมีได้
๔. เทิดทูนพระองค์ในทุกโอกาส
๕. ตั้งรูปของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระโอรส พระธิดา ไว้ในที่สูง
        การถวายบังคม เป็นการถวายความเคารพพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีตามประเพณีไทยตั้งแต่ สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน กระทำได้ทั้งหญิงและชาย มีวิธีปฏิบัติแบบเดียวกัน
       ท่าเตรียม นั่งคุกเข่า ปลายเท้าทั้งสองตั้งลงยันพื้น นั่งทับลงบนส้นเท้า สำหรับชายให้แยกเข่าห่างประมาณ ๑ คืบของตน สำหรับหญิงให้แยกเข่าเล็กน้อยพองาม ตั้งตัวตรง ยกอกขึ้น อย่าห่อไหล่หรือยกไหล่ วางมือทั้งสองคว่ำลงบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน
การถวายบังคมมือ ๔ จังหวะ คือ
        จังหวะที่ ๑ ยกมือขึ้นประณมตรงระดับทรวงอก ให้ปลายนิ้วตั้งตรงระดับปลายคาง
        จังหวะที่ ๒ ทอดแขนพร้อมมือที่ประณมหันไปข้างหน้า ให้ปลายมือต่ำลงแต่ไม่ห้อย ปลายนิ้วมืออยู่ระหว่างระดับท้อง โน้มตัวลงตามมือเล็กน้อย
         จังหวะที่ ๓ วาดมือขึ้นจรดหน้าผาก ให้หัวแม่มืออยู่กลางหน้าผาก ลำตัวเฉพาะเหนือสะเอวขึ้นไปเอนไปข้างหลัง ชายเอนมากกว่าหญิง เงยหน้าให้อยู่ระดับ ๔๕ องศา แต่ไม่ถึงกับหงายหน้า ให้ตาอยู่ระดับนิ้วหัวแม่มือ ระดับของลำตัวในขณะที่มืออยู่ระดับจรดหน้าผากจะต้องเอนเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เอนจนหงาย หรือแหงนแต่คอ ท่าเอนนี้ลำตัวจะโค้งด้วยเล็กน้อย ศอกจะกางออก
         จังหวะที่ ๔ ลดมือลงพร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้า วาดแขนและมือลงในระดับช่วงเข่า (หน้าท้อง) ปลายมือต่ำ ยกปลายมือขึ้นในท่าประณม ปลายมือตั้งขึ้น พร้อมกับเลื่อนมือขึ้นสูงระดับอก และยกตัวขึ้นตรง
ทำเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง แล้วลดมือลงในระดับอก เบนปลายนิ้วจากทรวงอกลงแบบอัญชลีแล้วจึงปล่อยมือวางที่หน้าขาตามเดิม แล้วเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่าหมอบ
ที่มา: ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. บริษัทสำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพาณิช จำกัด


ภาพจาก : http://www.kanchanapisek.or.th/kp8/mthai/res.html

0 comments:

Post a Comment

 
มารยาท.com © 2012 | Designed by GURU